Business

อ่วม! งวด 9 เดือน ‘สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส’ ขาดทุนเฉียด 5 พันล้าน

อ่วม! ไตรมาส 3 “สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส” ขาดทุน 1.5 พันล้าน รวมงวด 9 เดือนติดลบเฉียด 5 พันล้าน ล่าสุดแอร์ไลน์เหลือเงินสด 3 พันล้านติดกระเป๋า

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ว่า รายได้รวมของบริษัทในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 903 ล้านบาท ลดลง 86.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 6,698 ล้านบาท ส่งผลให้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ขาดทุน 1,585.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,504% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 65 ล้านบาท

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ9

ผลประกอบการดังกล่าวเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ สายการบินจึงได้เน้นการทำการบินภายในประเทศเป็นหลัก

โดย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้กลับมาทำการบินในเส้นทาง กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และ สมุย-ภูเก็ต โดยได้บริหารจัดการเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทาง ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 8,196.4 ล้านบาท ลดลง  60.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีรายได้ 20,540 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของธุรกิจสายการบินและธุรกิจสนามบิน ปรับตัวลดลง 65.9% และ 64.9% ตามลำดับ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลง 65.1% โดยเฉพาะผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งลดลง 74.3% ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ปรับตัวลดลง 54.8%

บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิงวด 9 เดือนเท่ากับ 4,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,953% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 121 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนส่วนที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เท่ากับ 4,882.5 ล้านบาท และมีผลขาดทุนต่อหุ้น เท่ากับ 2.37 บาท

shutterstock 1206961966

ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินของ บางกอกแอร์เวย์ส ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และส่งผลให้มีการทำการบินในประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) จึงมีจำนวนอาหารที่ผลิตเพิ่มขึ้น 196% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ยังคงต่ำกว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ในอัตรา 97%

นอกจากนี้ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการเพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา 63% และในส่วนของ บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG-Cargo) มีน้ำหนักของสินค้าที่ให้บริการเพิ่มขึ้น 28% ของไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ในอัตรา 7%

สำหรับธุรกิจการลงทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ได้ดำเนินการส่งแผนแม่บทการดำเนินงานต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อกำหนดตำแหน่งและจุดเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่สำคัญในโครงการฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

บางกอกแอร์เลย์15

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส มีทรัพย์สินรวม 52,029 ล้านบาท หนี้สินรวม 33,197 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดปลายงวด 3,070 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo