Economics

โควิดฉุดยอดส่งออกรถยนต์เดือน ต.ค. วูบ 16.57%

ส.อ.ท. เผยยอดผลิตรถยนต์เดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 149,360 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.24% ขณะที่ยอดส่งออกอยู่ที่ 71,372 คันลดลง 16.57%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์เดือนตุลาคม 2563 จำนวน 149,360 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.24% เนื่องจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งปีนี้มีสัดส่วน 55.01% ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.81% เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากมีการล็อกดาวน์เดือนเมษายน

ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถกระบะเพื่อขายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของรัฐบาล แต่ผลิตเพื่อส่งออกยังคงลดลงถึง 19.65% ขณะที่ จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,112,426 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.53%

ส.อ.ท.
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ส่วนผลิตเพื่อส่งออก เดือนตุลาคม 2563 ผลิตได้ 67,203 คัน เท่ากับ 44.99% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.65% ส่วนเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 576,626 คัน เท่ากับ 51.83% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2562 ระยะเวลาเดียวกัน 35.83%

ขณะที่ยอดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนตุลาคม 2563 ผลิตได้ 82,157 คัน เท่ากับ 55.01% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.81% และเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 ผลิตได้ 535,800 คัน เท่ากับ 48.17% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.20%

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 74,114 คัน ลดลงน้อยลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วเหลือแค่ 1.4% จากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคของรัฐบาล การประกันรายได้พืชผลของรัฐบาล การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่และการส่งเสริมการขายของผู้จำหน่าย

ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนตุลาคม 2563 ส่งออกได้ 71,372 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.57% โดยส่งออกลดลงแทบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือ เนื่องจากส่งออกรถกระบะเพิ่มขึ้น 172.23% จากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 592,829 คัน โดยส่งออกลดลงจากปี 2562 ในระยะเวลาเดียวกัน 34.61% มีมูลค่าการส่งออก 329,020.34 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.85%

อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ 520,555.06 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.87% แม้ว่า เดือนตุลาคมนี้อัตราการเติบโตอุตสาหกรรมนี้จะยังไม่ดีมากนัก แต่ก็เริ่มมีสัญญาณดีกลับมาบ้าง และในช่วงเดือนธันวาคมนี้จะมีการจัดงานมอเตอร์โชว์รถยนต์น่าจะเริ่มยอดขายโดยรวมของอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาได้แน่นอน

ส.อ.ท.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 86.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.2 ในเดือนกันยายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน

ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภคสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องส่งผลดีต่อความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกที่มีความรุนแรงขึ้น หลายประเทศในยุโรปประกาศล็อกดาวน์รอบ 2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งการปิดด่านการค้าชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความล่าช้า
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs บางรายยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากยอดขายสินค้าลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 และยอดขายยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการระบาด นอกจากนี้ สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,333 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 66.9%, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 57.1%, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 44.2% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 38.4% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 37.7%

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือนกันยายน 2563 จากปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออกลดลง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้กิจการประสบปัญหาขาดสภาพคล่องโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1. ขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
2. ขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากการตรวจรับเรียบร้อยเพื่อช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน
3. เร่งผลักดันโครงการลงทุนและโครงการก่อสร้างของภาครัฐทุกโครงการที่ได้วางแผนไว้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo