Business

ร้านอาหารต้องรู้! ไกด์ไลน์คุม ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ รอประกาศราชกิจจา บังคับใช้

ไกด์ไลน์คุม ฟู้ดเดลิเวอรี่ รอประกาศราชกิจจาบังคับใช้ ช่วยผู้ประกอบการ ร้านอาหารรายย่อย ป้องกันถูกเอาเปรียบ จากแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร

ธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เป็นหนึ่งในธุรกิจ ที่ได้ความนิยม และ เป็นที่สนใจอย่างมาก ในช่วงก่อน และหลังโควิด เห็นได้จาก การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป รวมถึงเงินลงทุน ของผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ธุรกิจจัดส่งอาหาร ทั้งไทยและต่างชาติ จนต้องมี ไกด์ไลน์คุม ฟู้ดเดลิเวอรี่

ไกด์ไลน์คุม ฟู้ดเดลิเวอรี่

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า จำนวนการสั่งอาหาร จะขยายตัวทั้งปี 2563 สูงถึง 78 – 84%  เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว ก็มีทั้งผลเชิงบวก เช่น การเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ของร้านอาหาร การสร้างรายได้ ให้กับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผลเชิงลบ ซึ่งเกิดจาก จำนวนแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร รายใหญ่ ที่มีเพียงไม่กี่ราย ขณะที่จำนวนร้านอาหาร ที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจำนวนมาก

ประกอบกับ การขาดแนวทาง และกฎเกณฑ์ การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้ผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทางการค้า กับร้านอาหาร ซึ่งสร้างผลกระทบ ต่อโครงสร้างต้นทุน ของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านขนาดเล็ก ที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด จนมีการเรียกร้อง ขอให้ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

จากการเรียกร้องดังกล่าว ส่งผลให้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้มีข้อสรุป ได้แก่

1. ปรับแก้ไขคำนิยาม ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

2. มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับ การปฏิบัติทางการค้า ของผู้ประกอบธุรกิจ ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยครอบคลุมไปยังประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • การเรียกจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ไม่ให้เรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายการโฆษณา ค่าส่วนแบ่งรายได้ (Commission fees) โดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น
  • การจำกัดสิทธิทางการค้าของ ร้านอาหาร เช่น ห้ามบังคับให้ร้านอาหาร ขายอาหารได้แค่เพียงแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารเดียว (Exclusive Dealing) โดยไม่มีเหตุจำเป็น เป็นต้น
  • การใช้อำนาจต่อรอง ที่ไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ให้บังคับ หรือ แทรกแซงการตั้งราคา และยกเลิกสัญญากับร้านอาหาร โดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือไม่แจ้งล่วงหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ระยะเวลาของสัญญา โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 60 วัน เป็นต้น

ขณะนี้ไกด์ไลน์ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบ จากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) และอยู่ระหว่างการรอประกาศลง ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวทางดังกล่าว น่าจะไม่ส่งผลต่อวิธีการดำเนินธุรกิจ ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร เนื่องจากผู้ประกอบการ ได้มีการปรับเปลี่ยน และเพิ่มความยืดหยุ่น ของเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง กับเรื่องดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

ประกอบกับการเข้ามา ของผู้เล่น แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร รายใหม่ ที่มีเงื่อนไขที่จูงใจ ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิม จำเป็นต้องปรับตัว

อย่างไรก็ดี คาดว่า การจัดทำไกด์ไลน์ดังกล่าวขึ้นมา จะช่วยยกระดับ และสร้างความชัดเจน ให้แก่ผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจจัดส่งอาหาร มิให้ถูกเอาเปรียบโดยไม่มีเหตุผลสมควร และสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้ง ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ยังคาดว่า ไกด์ไลน์ดังกล่าว อาจจะขยายความครอบคลุม ไปยังผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในระยะข้างหน้า อาทิ ผู้บริโภค หรือ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์

ขณะที่ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ต่อเนื่องไปยังปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจจัดส่งอาหาร ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ให้บริการ แพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร รายเดิมและรายใหม่ ที่พยายามเข้ามาแย่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแข่งขันกัน ด้วยกลยุทธ์ทางราคา และความสามารถ ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่มีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมอย่างรวดเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo