General

ภัยร้าย! เชื้อดื้อยา ทำเสียชีวิตปีละ 38,000 คน สธ.ปลุกกระแส สร้างความรู้ยาต้านจุลชีพโลก

เชื้อดื้อยา ต้นเหตุคนไทยเสียชีวิตปีละ 38,000 คน สธ. เร่งจับมือ 22 หน่วยงาน ปลุกกระแส ในสัปดาห์สร้างความรู้ และตระหนักต่อเรื่องยาต้านจุลชีพโลก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในงาน “สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่อง ยาต้านจุลชีพโลก” ว่า เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นวิกฤติร่วมกันของทุกประเทศ โดยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจาก เชื้อดื้อยา ปีละ 700,000 คน สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาที่ผ่านมาพบ ผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 คน

เชื้อดื้อยา

ทั้งนี้ สธ. ได้จับมือ 22 หน่วยงานทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมปลุกกระแสเชื้อดื้อยา ในสัปดาห์ความตระหนักรู้ เรื่องยาต้านจุลชีพโลก รณรงค์กับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในโรคหวัด อุจาระร่วงเฉียบพลัน เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ได้ร่วมกับผู้นำจากทุกประเทศทั่วโลกรับรองปฏิญญาทางการเมือง ว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปี 2559 ในฐานะเป็นประธานกลุ่มประเทศ G-77 และผู้นำประเทศไทย คงเน้นย้ำความสำคัญ ในการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ต่อเรื่องเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพ

จากการติดตามปัญหาดังกล่าว ในฐานะประธานกรรมการ นโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ได้ทราบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยามากขึ้น มีอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะลดลง ในกลุ่มโรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อาทิ หวัด และโรคท้องร่วงเฉียบพลันลดลง โดยมีการสั่งจ่าย ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 20

อนุทิน1 4

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เพิ่มขึ้นประมาณ 600 แห่ง ทั้งโรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น และโรงพยาบาลเอกชน

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ชี้ให้เห็นว่า ในคนไทยอายุมากกว่า 15 ปี จำนวน 54 ล้านคน พบว่ามีผู้ที่รู้ และเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยา และยาต้านจุลชีพในระดับที่ดีพอ หรือประมาณ 13 ล้านคน

สำหรับสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การทำอย่างไรให้ประชาชนอีกกว่า 41 ล้านคนที่เหลือ มีความรู้เรื่องนี้มากขึ้น เช่น รู้ว่ายาปฏิชีวนะ กับยาแก้อักเสบ ไม่ใช่ตัวเดียวกัน รู้ว่าโรคหวัดและท้องเสียเกือบทั้งหมด หายเองได้ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ รู้ว่าปัญหาเชื้อดื้อยานั้น ส่งผลกระทบเกี่ยวพันทั้งในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อนุทิน4

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้มาร่วมกันดำเนินงานภายใต้แนวคิด สุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม

อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมงาน World Antimicrobial Awareness Week ซึ่งจัดในช่วงเวลาเดียวกันในหลายประเทศทั่วโลก จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ไทยได้รับความร่วมมือ จากหน่วยงานต่างประเทศ อาทิ WHO FAO OIE USAID Fleming fund/UK Aid ให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยามา โดยตลอด

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งชุดกิจกรรมย่อยแบ่งเป็น 3 แพลตฟอร์ม (Platform) โดยจัดระหว่างวันที่ 16-24 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้

อนุทิน3 1

แพลตฟอร์มที่ 1 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในการควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในคนและสัตว์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็น และเรียนรู้ประสบการณ์ การดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน

แพลตฟอร์มที่ 2 และ 3 โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา ร่วมกับภาคีเครือข่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo