Business

ตะลึง!! ‘CPALL’ เพียง 9 เดือน กำไรหายไปเกือบ 7 พันล้าน

CPALL กำไรหาย เพียง 9 เดือน หายไปเกือบ 7 พันล้าน พบพฤติกรรมการใช้จ่าย ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น เลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่คิดว่าจำเป็น

CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหุ้นท็อปฮิตที่มีประเด็นให้เราวิเคราะห์ และพูดถึงถึงกันอยู่บ่อยๆ ด้วยธุรกิจหลักของบริษัทอย่าง7-ELEVEN” ที่มีความเกี่ยวข้อง และเป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป 

ขณะเดียวกัน CPALL ยังเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าซื้อขายระหว่างวันเป็นจำนวนมหาศาล โดยรั้งอันดับ 4 ของบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap.) มากที่สุดของไทยที่ระดับ 560,000 ล้านบาท จึงทำให้การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งของ CPALL มีอิทธิพลอย่างมาก

CPALL กำไรหาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 บริษัท CPALL ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานผลดำเนินงานในงวดไตรมาส 3 ของปีนี้ออกมา โดยมีรายได้รวม 135,500 ล้านบาท ลดลง 3.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 141,050 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,997 ล้านบาท ลดลง 22.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 5,611 ล้านบาท

ดังนั้น จึงส่งผลให้ภาพรวมผลดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,530 ล้านบาท ลดลงมากถึง 22.5% หรือเกือบ 7,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

หลังจากประกาศงบการเงิน ราคาหุ้น CPALL ก็ได้ทำการปรับลดลงทันที 2 วันติด โดยวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ปรับตัวลง 1.18% สู่ระดับ 62.75 บาท ลดลงมากกว่า SET Index ที่ปรับตัวลง 9.03 จุด หรือลดลง 0.67% 

ต่อเนื่องมาจนถึงในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ปรับตัวลง 0.80% สู่ระดับ 62.25 บาท สวนทางกับ SET Index ที่ปรับขึ้น 10.16 จุด หรือลดลง 0.76%

อะไรเป็นเหตุผลทำให้ CPALL กำไรหาย

หากย้อนกลับไปในช่วง Lockdown ใหม่ๆ มีการวิเคราะห์ว่า CPALL อาจจะได้รับผลกระทบจนถึงขนาด “ขาดทุนเป็นครั้งแรก” แต่เมื่อผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาจริงๆ บริษัทกลับยังสามารถยืนระยะสร้างกำไรได้เหมือนเดิม แม้จะเป็นระดับที่ลดน้อยลงก็ตาม 

ทำให้หลายฝ่ายประเมินกันว่ามีโอกาสสูงที่ในไตรมาส 3 ตัวเลขยอดขาย และกำไรของ CPALL จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง เพราะเห็นความแข็งแกร่งของร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-ELEVEN แล้วว่าคงไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่นัก แถมยังได้อานิสงส์จากการที่คู่แข่งอื่นๆ หยุดชะงักไปด้วย

แต่ความจริงกลับไม่ใช่แบบนั้น เมื่อผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมา จะเห็นเลยว่าผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่ได้หายไปไหน โดยบริษัทเปิดเผยในรายงานว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น เริ่มรัดเข็มขัด ประหยัดเงิน และเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่คิดว่าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น

นอกจากนี้ การที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปหลายเดือน ยิ่งซ้ำเติมให้การบริโภคภายในประเทศหดตัวลงกว่าเก่า เพราะต้องไม่ลืมว่าชาวต่างชาติถือเป็นลูกค้าหลักของ 7-ELEVEN เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าชาวจีน 

CPALL กำไรหาย

สถิติสำคัญของร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN

– ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 69,068 บาท

– ยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิม (Same Store Sales) ลดลง 14.3%

– ยอดซื้อต่อบิลอยู่ที่ 75 บาท

– จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันอยู่ที่ 917 คน ซึ่งลดลงจากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และรากปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา

– ปีนี้มีธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดใหม่รวมแล้ว 136 สาขาทั่วประเทศ โดยยังคงเป้าหมายให้ครบ 13,000 สาขาภายในปี 2021 จากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 12,225 สาขา

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปของหุ้น CPALL หลังกำไรหาย 

มุมมองระยะยาวต่อหุ้น CPALL คงอยู่ที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายว่าจะยังทรงตัว หรือกลับมาเติบโตได้ไหม  ยังมีปัจจัยลบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ฟื้นตัว รวมถึงกำลังซื้ออยู่ในระดับต่ำ ทำให้ Same Store Sales น่าจะยังไม่กลับมาเติบโตในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงในยุค New Normal ด้วยการหันมาเน้นการขายสินค้าแบบ Online to Offline (O2O) มากขึ้น แต่ปัจจุบันยอดขายช่องทางนี้คิดเป็นสัดส่วนแค่ราว 5% เท่านั้นของยอดขายทั้งหมด 

CPALL กำไรหาย

สุดท้ายกับกรณีที่กลุ่มซีพีได้รับอนุญาตให้เข้าซื้อกิจการ “เทสโก้” ทั้งในไทยและมาเลเซียนั้น  ในส่วนของ CPALL คาดจะใช้เงินทุนราว 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทย่อย ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง แน่นอนว่าข้อดี คือ จะทำให้เครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกที่ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ 

แต่ประเด็นที่ก็อาจเป็นปัจจัยลบกดดันหุ้น CPALL ในระยะสั้นถึงกลางได้เช่นกัน เนื่องจากเงินลงทุนในส่วนของ CPALL น่าจะมาจากการก่อหนี้ใหม่เป็นหลัก ทำให้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน CPALL มีหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 3.61 เท่า 

แต่คงต้องรอความชัดเจนเรื่องแผนระดมเงินอีกครั้ง เพราะ CPALL ยังมีทางเลือกในการจัดหาเงินอีกแบบอื่นๆ อาทิ การออก Perpetual Bond หรือ อาจจะลดสัดส่วนการถือหุ้น MAKRO ก็เป็นอีกหนทางที่ทำได้เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo