COLUMNISTS

อาหารผู้สูงอายุ ทานอย่างไร ไม่ให้น่าเบื่อ?

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
4320

เพราะการทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยผู้สูงอายุ ที่มีการเสื่อมถอยของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อและฟัน มีผลทำให้การบดเคี้ยวอาหาร หรือ กลืนอาหารเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงทำให้ต้องเลือกทาน นอกจากจะต้อง “อร่อย” แล้วยังเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนอีกด้วย คำถามก็คือว่า เราควรปรุงอาหารอย่างไรให้การกินอาหารสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องง่าย โดยอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร หรือแม้กระทั่งเพื่อลดปัญหาที่ผู้สูงอายุเผชิญกับภาวะการกลืนอาหารลำบาก หรือ แม้กระทั่ง เกิดสำลักอาหารบ่อย (ซึ่งกรณีหลัง ถือเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตกันเลยทีเดียว)

สังคมผู้สูงอายุของไทย

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณประชากรของประเทศไทย 2553 – 2583 ระบุว่า ประชากรของไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคนในปี 2571 หลังจากนั้นประชากรจะลดลงในอัตรา -0.3% ต่อปี ซึ่งในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน

โดยในจำนวนประชากรดังกล่าว พบว่า ประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (18%) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (31.28 %) ในปี 2583 โดยในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้น จำนวนประชากรวัยเด็ก จะน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด

เช่นเดียวกับอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน และในปี 2583 ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2583

Food for the elderly in China Authorities to regulate definition labelling and ingredients for the first time wrbm larg

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ

เมื่อเราเห็นอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้สูงวัย จึงถือว่ากลุ่มผู้สูงวัยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก และมีความต้องการครอบคลุมไปยังหลายธุรกิจ ส่งผลให้ที่ผ่านมามูลค่าตลาดในกลุ่มผู้สูงอายุสูงถึง 107,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็น Product มูลค่าแตะ 7 หมื่นล้าน และที่เหลือเป็นมูลค่าตลาดด้านการบริการ (Service)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผุ้สูงอายุ ที่เห็นชัดๆ คือ ธุรกิจเรียลเอสเตท หลังจากปี 2564 การเติบโตของตลาดผู้สูงอายุจะมากขึ้นถึง 15 – 20 % ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยธุรกิจเรียลเอสเตท จะมุ่งเน้นสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมูลค่ามหาศาล และในอนาคตอันใกล้ ก็จะมีโครงการที่พักอาศัยที่เป็นรูปแบบให้ผู้สูงอายุอยู่ และมีพยาบาล แพทย์ ดูแลตลอด 24 ชม. มีเฮล์แคร์ เรียกได้ว่าครบทุกกระบวนความสะดวกสบาย และปลอดภัยเต็มรูปแบบ

ผู้สุงอายุยุคใหม่ ไม่พึ่งลูกหลาน

โฟกัสมาที่เรื่องการเงิน ปัจจุบันผู้สูงอายุเริ่มมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด อย่างที่บอกว่าไว้ข้างต้นว่า กลุ่มผู้สูงอายุยุคใหม่นี้ เป็นกลุ่มผู้มีศักยภาพทางการเงินสูง เริ่มเป็นคนที่มีกำลังซื้อ เริ่มวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณ โดยไม่รบกวนลูกหลาน มีการซื้อกองทุน บริหารเงิน การวางแผนท่องเที่ยวแบบชาญฉลาด เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตยามเกษียณมีความสุขมากขึ้น แม้กระทั่งในยุคนี้ AI ที่มีหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ผู้สุงอายุชื่นชอบมาก เพราะจะได้มีเพื่อนเล่น ไม่เหงา แถมมีผู้ช่วยที่ไม่ขี้บ่น และช่วยเหลือตลอด 24 ชม. ไม่รู้เหนื่อย

ชีวิตไฮเทคขึ้น เมื่อสูงวัย

ไม่ว่าจะมี Ai เข้ามามีบทบาทในชีวิตสังคมไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกหลานก็สามารถดูแลผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่นการมีระบบแจ้งเตือนการหกล้ม, การติดวงจรปิดเชื่อมต่ออินเตอร์เนตส่งสัญญาณจากบ้านไปยังสมาร์ทโฟนมือถือ, การมีแพทย์ทางไกล รวมถึงมีนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุ รวมถึงอุปกรณ์ในห้องน้ำที่ออกแบบมาให้เหมาะกับผู้สูงอายุในยุคนี้

Healthy Recipes

อาหารกับผู้สูงอายุ

คำนิยามของผู้สูงวัย คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และแน่นอน การเปลี่ยนแปลงภายในของร่างกายจะเป็นไปในด้านเสื่อมสลายมากกว่าการเสริมสร้างใหม่ การทำงานของระบบประสาทจะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้สูงอายุ มีปัญหาอย่างมาก เช่น ฟันผุ (หรือไม่มีฟันทั้งปาก ต้องใส่ฟันปลอมเพื่อใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร) ต่อมน้ำลาย หลั่งสารน้ำลายลดน้อยลง มีผลทำให้การบดเคี้ยวอาหารภายในปากเป็นไปได้ไม่ดี

หรือจะเป็นเมื่ออาหารมาถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก มีปัญหาการย่อย และการดูดซึม เพราะน้ำย่อยในกระเพราะอาหาร และลำไส้เล็กมีน้อย อาหารก็ไม่ค่อยย่อย และเมื่อผ่านลำไส้ใหญ่ ก็จะเกิดการสะสมเกิดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และอาจปล่อยแก๊สทำให้ท้องอืดได้ ส่งผลให้ท้องผูก เนื่องด้วยผู้สูงอายุ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว แทบไม่ค่อยออกกำลังกาย

กินอย่างไร อุ่นใจวัยเก๋า

ผู้สูงอายุ ต้องได้รับการดูแลอาหารในแต่ละมื้อ กินแล้วได้ประโยชน์ ได้สารอาหารที่เหมาะสมกับวัยนี้ เพราะอาหารผู้สูงวัยเพื่อทุกคำ คือสุขภาพที่ดี

  • เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย
  • สารอาหารครบถ้วน
  • รสไม่จัดจ้าน
  • แต่ละมื้อ เป็นผักครึ่งจาน
  • ดื่มนมวันละ 1 -2 แก้ว

โดยสามารถแบ่งชนิดหมวดอาหารสำหรับผู้สูงอายุได้ 5 หมวด

  • หมวดที่ 1 เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกาย โดยจะเน้นเป็นเนื้อปลา จะเหมาะมากกับผู้สูงอายุ เพราะย่อยง่าย ไม่ทำให้ท้องอืด ไข่ไก่ ควรเป็นไข่ต้มสุก นมพร่องมันเนย เป็นอาหารที่ให้แคลเซียมและโปรตีน ส่วนถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง ใช้ทานแทนเนื้อสัตว์ได้เลย เช่น พวกเต้าหู้
  • หมวดที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล ถ้าเอ่ยถึงพวกข้าว แป้ง เป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรท เป็นกลุ่มที่ให้พลังงาน ฉะนั้น ควรทานในปริมาณพอดี ไม่ควรทานมากเกินไป เพราะจะกลายเป็นน้ำตาล และไขมันในร่างกายเกิดปัญหาโรคตามมาได้
  • หมวดที่ 3 ผักต่างๆ ผักถือเป็นสารอาหารที่มีไฟเบอร์ และอุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุมากมาย แนะนำผู้สูงอายุทานผักหลากหลายชนิดรวมกัน เน้นการต้มผักสุก (ไม่ควรทานผักดิบ) เพราะจะทำให้ย่อยง่าย และไม่ท้องอืด
  • หมวดที่ 4 ผลไม้ต่างๆ ถือเป็นหมวดที่แนะนำผู้สูงอายุ ควรทานผลไม้ได้ทุกชนิด และทุกวันเพื่อให้ได้วิตามินซี และกากใยอาหารให้เพียงพอ ควรเลือกผลไม้ที่หวานน้อย เนื้อนุ่ม ทานง่าย เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฯลฯ
  • หมวดที่ 5 ไขมัน และน้ำมันพืช เน้นการใช้น้ำมันพืชปรุงอาหาร เช่นน้ำมันถั่วเหลือง หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันสัตว์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก เช่นเนื้อติดมัน อาหารจำพวกทอดน้ำมัน ต่าง ๆ

old woman eating salad swallowing nyul iStock 35971902 MEDIUM

ผู้สูงอายุ กับ อุปกรณ์ช่วยการกินอาหาร

ผู้สูงอายุบางท่านอาจมีปัญหาด้านการจับอุปกรณ์ทานอาหาร (ผู้เขียนเอง มีประสบการณ์โดยตรงจากคุณแม่ ที่เป็นโรครูมาตอยด์ ทำให้ข้อมือ – นิ้วมือ คุณแม่เปลี่ยนรูปไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการรับประทานอาหาร เช่นการจับช้อน – ส้อม) หรือผู้สูงอายุที่ขยับมือได้ไม่ถนัด ไม่คล่อง หรือไม่สามารถตักอาหารเองได้

ปัจจุบัน มีอุปกรณ์การกินอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะค่ะ เพื่อลดความเครียดระหว่างการกินอาหาร (บางครั้ง อาจพาลไม่อยากทานอาหารไปเลยก็มี) ซึ่งแน่นอน ผู้สูงอายุแต่ละท่านก็มีความต้องการใช้อุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เช่นช้อนส้อม ที่มีด้ามจับขนาดใหญ่ จับได้ถนัดมือ หรือโค้งงอ ตามความถนัดของข้อมือผู้สูงอายุ , ตะเกียบติดสปริง ช่วยให้การคีบตะเกียบ ออกแรงน้อยลง

ภาชนะบรรจุอาหาร ก็มีส่วนทำให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้ง่ายขึ้น และไม่สำลัก เช่นแก้วที่มีปากทรงรี ด้านหนึ่งของแก้วเว้าลงไปเพื่อไม่ให้จมูกชนขอบแก้ว ผู้สูงอายุจึงไม่ต้องก้มหน้าจนลึกเพื่อดื่มน้ำ กันในเรื่องสำลักน้ำ, จานที่ตักอาหารง่าย โดยขอบด้านหนึ่งมีขอบสูงตั้งขึ้นมา เพื่อให้ตักอาหารง่ายขึ้น เป็นต้น

ผู้สูงอายุ ควรเลี่ยงอาหารอะไร?

  • ขนมเหนียวๆ พวกขนมเปียกปูน ขนมชั้น ขนมปั้นหวาน ฯลฯ
  • เนื้อสัตว์ที่เคี้ยวยาก
  • ผักที่มีก้าน หรือ ใบแข็ง
  • เห็ดบางชนิด เช่นเห็ดเข็มทอง เพราะจะติดฟันปลอม หลุดกลืนเข้าคอได้ หรือแม้กระทั่งขนมกุยฉ่าย เป็นขนมที่มีเนื้อแป้งเหนียว ก็ควรหลีกเลี่ยง
  • ของหมักดอง ที่มีกลิ่นแรง ทำให้สำลักได้ง่าย
  • อาหารที่เป็นผง เช่น งาบด ผงส้มหวาน ทำให้ผู้สูงอายุสำลักผงก่อนกลืนได้
  • อาหารที่เป็นประเภทเส้น เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ ที่มีเส้นยาว

สรุป

ทุกครั้งที่เราได้ทานอาหารที่ชอบ ได้ลิ้มรสอาหารที่อยากทาน เหล่านี้คือความสุขในการรับประทานที่เราทุกคนสรรค์หา แต่ทว่า ผู้สูงอายุที่มีความลำบากในการทานอาหาร ความสุขตรงนี้อาจหายไป ญาติหรือผู้ดูแล สามารถช่วยให้ความสุขในการรับประทานอาหารกลับมาได้ โดยการเลือกอาหารที่ท่านโปรดปราน เป็นอาหารเหมาะสมกับผู้สูงอายุ เลือกใช้อุปกรณ์ตัวช่วยในการทานอาหาร อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือ ผู้สูงอายุที่ทานข้าวคนเดียวเป็นประจำ มักจะรู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้อยากอาหารน้อยลง ทานอาหารให้น้อยลง (อันนี้เรื่องจริง) ครอบครัวควรจัดเวลาทานอาหารกับผู้สูงอายุเป็นประจำ และถ้าเป็นไปได้ ควรทานข้าวด้วยกันทุกวัน จะทำให้ท่านไม่รู้สึกโดดเดี่ยว พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : www.hindawi.com/journals.com , www.wur.nl/en/Dossiers/file/Food-Nutrition-for-elderly.htm,
https://www.nutraingredients-asia.com/Article/2018/10/11/Food-for-the-elderly-in-China-Authorities-to-regulate-definition-labelling-and-ingredients-for-the-first-time, www.i-kinn.com)

อ่านข่าวเพิ่มเติม