Economics

ไทยเสนอ 3 ความร่วมมือ ‘ที่ประชุมลุ่มน้ำโขง’ เร่งฟื้นเศรษฐกิจจากโควิด-19

“นายกฯ” เน้นย้ำความสำคัญความร่วมมือ “ลุ่มน้ำโขง -ญี่ปุ่น” พร้อมเสนอกระชับ 3 ความร่วมมือระหว่างกัน รับมือและฟื้นฟู เศรษฐกิจ จาก โควิด-19

วันนี้ (13 พ.ย. 63) เวลา 11.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วม การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิก อาเซียน จาก เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

IMG 20201113123030000000

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานร่วมกับญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นการประชุมเพื่อทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ 3 สาขาหลักของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว 2018 เพื่อความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง กับญี่ปุ่น รวมทั้งหารือทิศทางของความร่วมมือให้สอดคล้องกับ 3 แนวทาง ได้แก่

  • แผนแม่บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)
  • ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
  • เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคโควิด-19

ด้านนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค  กลไกความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นจะช่วยขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของภูมิภาค โดยญี่ปุ่นได้สนับสนุนทั้งเงินทุน ทักษะ โครงการ และการพัฒนาศักยภาพของชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน นับเป็นเรื่องสำคัญและสามารถร่วมมือกันได้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมทั้ง ยังจะมีข้อริเริ่มใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในอนาคต

ประยุทธ์ นายก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 วันนี้ (13 พ.ย. 63)

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำในที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง กับญี่ปุ่น ความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะพหุภาคีและความเป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 และฟื้นฟู เศรษฐกิจ หลัง โควิด-19 ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และอนุภูมิภาค

โดยสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการมากที่สุด คือการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้รวดเร็วและยั่งยืนโดยใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจใหม่ และยกระดับมาตรฐานในทุกด้าน ทั้งด้านความมั่นคงของมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐานและการประกอบธุรกิจ โดยเสนอความร่วมมือ 3 ประการ ดังนี้

ความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการทำให้อนุภูมิภาคบรรลุระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) โดยสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความสามารถของไทยในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ความสามารการเข้าถึงยาและวัคซีนที่เท่าเทียมกัน ในราคาสมเหตุสมผล รวมทั้งสนับสนุนให้ยาและวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลก

การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ไร้รอยต่อ ยืดหยุ่น และยั่งยืน โดยไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคผ่านโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการสะพานไทย ซึ่งเชื่อมโยงเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) และ โครงการเชื่อมโยงถนนระหว่างท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Land Bridge) ซึ่งญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าวได้ รวมทั้ง ความสำคัญของความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบและความเชื่อมโยงทางดิจิทัล โดยสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง กับญี่ปุ่นจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมการเชื่อมโยงดังกล่าว

การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นในการจัดเวทีหารือกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง กับญี่ปุ่นเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ด้านระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ไทยใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แม่น้ำโขง ลาว

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เพราะจะเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศ ลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระดับประชาชนในช่วงหลังโควิด-19 และจะได้กลับมาพบปะกันอีกครั้งในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 ที่กรุงโตเกียว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกรอบความร่วมมือ ACMECS ที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจว่า กัมพูชาจะจัดการประชุมในวันที่ 9 ธันวาคม นี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกล และย้ำว่า ACMECS Master Plan จะยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมโยง 3 ด้าน แต่ในขณะที่โลกยังเผชิญกับโรคโควิด-19 แผนงานจึงจะเน้นด้านสาธารณสุข และห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานยินดีรับสมาชิกใหม่ได้แก่ นิวซีแลนด์ และอิสราเอล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo