COLUMNISTS

‘ฟองสบู่อสังหาฯ’ เมื่อ ‘อภิศักดิ์’ มองต่างมุม ‘วิรไท’      

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
338

การออกมาแสดงความกังวล   ต่อความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ของแบงก์พาณิชย์  และภาวะเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยของ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อสัปดาห์ก่อน   มีเสียงสะท้อนจาก อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ซึ่งมองต่างออกไป อีกมุม

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

 รัฐมนตรีคลัง ได้ตั้งคำถาม แบงก์ชาติว่า ควรพิจารณาว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ( หนี้เสียเพิ่มขึ้น ) นั้นมาจาก สถาบันการเงิน หรือ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่ง  อภิศักดิ์ เชื่อว่า ลูกหนี้ยุคนี้ไม่มีปัญหาเหมือนลูกหนี้ ปี 2540 ที่จำนวนมากเผชิญ ภาวะว่างงานจากพิษวิกฤติเศรษฐกิจ จนกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้  และยังแสดงความเชื่อมั่นอีกด้วยว่า ไม่มีภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ โดยยกเหตุผลที่ดิเวลลอปเปอร์ ยังพัฒนาสินค้าเข้าตลาดสะท้อนว่าผู้ประกอบการมองว่า ตลาดมีความต้องการ  

การมองต่างมุมระหว่างรัฐมนตรีคลัง กับ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ  มีมาระยะหนึ่งแล้ว ในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีประเด็นโยงถึง ภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา มีข้อกังวลจากกนง.ใน 4 ประเด็นหลัก คือ   

  • หนึ่ง ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ จากการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่  1.5 % มายาวนาน  เอื้อให้เกิดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์
  • สอง การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทำให้ “ มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ” ที่อยู่อาศัยลดลง
  • สาม เอ็นพีแอล หรือ หนี้เสีย  สินเชื่ออสังหาฯเพิ่มขึ้น
  •  สี่ ตลาดคอนโดมิเนียม บางพื้นที่ มียอดเหลือขาย มากอย่างมีนัยสำคัญ

 กนง. ได้หยิบปัจจัยข้างต้นมาสนับสนุน ความคิดที่ว่า ควรพิจารณาเรื่องการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างจริงๆจังๆเสียที  และการประชุม กนง.ครั้งล่าสุด มีเสียงสนับสนุนให้ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25  % เป็น  1.75  % เพิ่มอีก  เสียง เป็น  2  เสียง   

ขณะที่  อภิศักดิ์  ตอบชัดเจนมาตลอดเช่นกันว่า ไม่เห็นด้วยที่ กนง.จะขยับ ดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้  โดยให้เหตุผล ว่า  ถ้าปรับขึ้นจะกระทบกับการลงทุนและการชำระหนี้ ”  หรือ  การเสนอให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศหรือไม่ ”   เป็นต้น 

เช่นเดียวกับ การตีความสภาวะตลาดอสังหาฯที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ มองว่า ตลาดคอนโดบางพื้นที่ มีอุปทานส่วนเกิน หรือ  เริ่มเห็นการซื้อบ้านหลังที่สอง  เพื่อเก็งกำไรส่วนต่าง  ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคฟองสบู่จนต้องจับตา

ผู้ว่าแบงก์ชาติ
วิรไท สันติประภพ

แต่รัฐมนตรีคลังกลับมองว่าไม่เป็นปัญหา เพราะผู้ประกอบการยังเร่งพัฒนาโครงการเข้าสู่ตลาด หรือเพราะเขา (ผู้ประกอบการ) รู้ว่ามีตลาดดังที่กล่าวถึงข้างต้น หรือ  นัยหนึ่งคือ กลไกตลาดสามารถจัดการกับสภาวะดังกล่าวได้  

 การมองต่างมุม เรื่องความเสี่ยงในตลาดอสังหาฯ ระหว่าง ผู้ดูแลการเงิน กับ การคลัง ของประเทศ ข้างต้น  มีแนวโน้มขยับขึ้น   เพราะราวเดือนตุลาคมนี้ กระทรวงการคลัง มีแผนเสนอโครงการบ้านล้านหลัง ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายอุดหนุนผู้มีรายได้น้อย ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในราคาไม่เกิน  ล้านบาทต่อหน่วย  ผ่อนไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน  โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นแกนกลางและปล่อยสินเชื่อรวม  6 หมื่นล้านบาท  โครงการดังกล่าว รัฐบาลขับเคลื่อนจาก จากโครงการ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐบาลมอบเป็นของขวัญปีใหม่ปีนี้

 เป้าหมายของรัฐบาลข้างต้น จึงสวนทาง กับ เป้าหมายแบงก์ชาติที่ต้องการคุม ส่วนเกินในตลาดที่อยู่อาศัย และสกัดการขยายตัวของการเก็งกำไร ด้วย กลไกทางการเงินโดยปริยาย

 เมื่อเร็วๆนี้  อภิศักดิ์ รัฐมนตรีคลัง ออกมาย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ถ้าขึ้น( ดอกเบี้ย) จะกระทบกับคนที่ผ่อนค่าบ้านโครงการของรัฐเดือนละ 2,000 บาทจะอยู่ไม่ได้  

 สภาวะมองต่างมุม ระหว่างคลัง กับ แบงก์ชาติ ในเรื่องดอกเบี้ย และ ตลาดอสังหาฯยกระดับขึ้นต่อเนื่อง น่าจับตาว่าในท้ายที่สุดแล้ว ดร.วิรไท ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จะแสดงจุดยืน ในเรื่องนี้อย่างไร