Business

ดึงเกาหลี ร่วมมืออาเซียน ตั้งกลไกสาธารณสุข ทั้งในกรอบอาเซียน ทวิภาคี

ดึงเกาหลี ร่วมมืออาเซียน สนับสนุนการจัดตั้งกลไกการหารือ ด้านสาธารณสุข ทั้งในกรอบอาเซียน และทวิภาคี สร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ขยายความร่วมมืออาเซียน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 21 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี โดยเฉพาะการ ดึงเกาหลี ร่วมมืออาเซียน ทั้งการแก้ปัญหาโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ดึงเกาหลี ร่วมมืออาเซียน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้เปิดการประชุมฯ โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของการประชุมว่า เป็นการประชุมเพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่าง อาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้บริบทสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดจากการแข่งขันของมหาอำนาจ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในประเด็นระดับภูมิภาค ที่อยู่ในความสนใจ และเป็นความห่วงกังวลร่วมกัน

ประธานาธิบดีมุน แช-อิน ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียน และ สาธารณรัฐเกาหลี ว่า อาเซียนเป็นมิตรแท้ ความพยายามร่วมกันจะสามารถเอาชนะโรคโควิด-19ได้ โดยเกาหลีพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือ ทั้งอุปกรณ์ป้องกัน ทดสอบ ช่วยเหลือผ่านกองทุน และโครงการต่างๆ

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่ ของเกาหลีใต้ จะขยายความร่วมมือกับอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดย สาธารณรัฐเกาหลี ยังยืนยันให้ความสำคัญ กับการรับมือโรคโควิด-19

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างอาเซียนกับ สาธารณรัฐเกาหลี ว่ามีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยมุ่งมั่นขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ให้คืบหน้าและเป็นรูปธรรม

ประเทศไทย ยังชื่นชมที่ สาธารณรัฐเกาหลี พิจารณายกระดับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ให้ทันสมัย รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ เพื่อให้อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีสามารถขับเคลื่อนสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

อาเซียน

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอกรอบความร่วมมือสำคัญ 2 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนกองทุนอาเซียน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี ในการตอบสนองต่อ สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยไทยสนับสนุน การจัดตั้งกลไก ด้านสาธารณสุข ทั้งในกรอบอาเซียน และทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19

อีกกรอบความร่วมมือที่นำเสนอ คือ ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และความแข็งแกร่ง ของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค การขยายปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกัน อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จาก ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจฯ ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด และความตกลง RCEP

ขณะเดียวกัน ไทยและอาเซียน พร้อมกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวก ในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัย สำหรับนักลงทุน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุขที่รัดกุม

นอกจากนี้ ยังพร้อมขยายความร่วมมือ ในโครงการภายใต้เอ็มแพ็ค 2025 โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสีเขียว ผ่านกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “Green New Deal” และ พร้อมสนับสนุน การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะโครงการฝึกอบรม ด้านเทคนิค และการอาชีวศึกษา หรือ TVET (ทีเว็ด)

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทย อาเซียน และสาธารณรัฐเกาหลี ควรมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และรับมือกับความท้าทาย ในยุค 4IR (โฟร์ ไอ อาร์)

“สันติภาพและเสถียรภาพ เป็นพื้นฐานของความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยสนับสนุนบทบาทของ สาธารณรัฐเกาหลี ที่พยายามสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลี ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และมีความรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป”นายกรัฐมนตรีกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo