Economics

‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ เปิดรถไฟฟ้ามหานคร ‘เฉลิมรัชมงคล’ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย 14 พ.ย.

“ในหลวง-พระราชินี” เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร–สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป

นายภคพงศ์ กันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม, รฟม. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ขอเชิญประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร–สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป

124813982 2658722117677839 1434587413021003589 o

สืบเนื่องจาก รฟม.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน เส้นทางจากหัวลำโพง ไปยังบางซื่อเป็นสายแรก และเริ่มเปิดให้บริการประชาชน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นมา โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกนี้ว่า “เฉลิมรัชมงคล” ซึ่งมีความหมายว่า งานเฉลิมความเป็นมงคล แห่งความเป็นพระราชา

จากนั้น รฟม.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จากหัวลำโพงไปยังบางแค และจากบางซื่อไปยังท่าพระ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตในการใช้ชื่อเส้นทางส่วนต่อขยายว่า “เฉลิมรัชมงคล” สำหรับสายสีน้ำเงินทั้งสาย นำมาซึ่งความปีติยินดีและเป็นสิริมงคลแก่ รฟม. รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการเป็นที่ยิ่ง

สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายเส้นทางจากหัวลำโพง–บางแค และจากบางซื่อ–ท่าพระ มีระยะทางรวมประมาณ 28 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้แก่ ช่วงหัวลำโพง–บางแค เชื่อมต่อ จากสถานีหัวลำโพง ไปสิ้นสุดที่สถานีหลักสอง บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบผสมทั้งใต้ดิน และยกระดับ มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 11 สถานี

ส่วนช่วงบางซื่อ– ท่าพระ เชื่อมต่อจากสถานีบางซื่อ ผ่านแยกเตาปูน และไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ บริเวณแยกท่าพระ ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 9 สถานี

ทั้งนี้ รฟม.ได้ขยายการให้บริการช่วงหัวลำโพง–บางแค อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา และขยายการให้บริการ ช่วงบางซื่อ–ท่าพระ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายวงกลมที่ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และรองรับการเดินทางของประชาชนจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรีได้โดยสะดวก เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางในชีวิตประจำวันของประชาชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo