Politics

‘จเรตำรวจ’ แจงสอบวินัย ‘อมเบี้ยเลี้ยงโควิด’ สั่งรายงานผลทุก 15 วัน

จเรตำรวจ แจงตั้งสอบวินัย “อมเบี้ยเลี้ยงโควิด” สั่งรายงานผลทุก 15 วัน เพื่อกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด ยืนยันผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษแน่นอน

พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีร้องเรียนจากตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (CoVID-19) รับเบี้ยเลี้ยง ไม่เป็นไปตามสิทธิ์ที่ควรจะได้นั้น ว่าในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความห่วงใยและได้กำชับให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา

ทั้งนี้ หากพบผู้กระทำผิดก็ให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดทุกราย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก็ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวโดยทันที ซึ่งจนถึงปัจจุบันหน่วยที่รายงานผลการตรวจสอบมาแล้วคือ บช.น. , ภ.1-9 ผลการตรวจสอบพบการกระทำผิด เป็น 2 กรณี

จเรตำรวจ
ภาพจาก ตำรวจภูธรจังหวัดสตูล Satun Police

คือกรณีแรก เป็นเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากความไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจผิด เช่น สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี กรณีนี้ผู้บังคับบัญชามีการชี้แจงทำความเข้าใจถูกต้องแล้ว กรณีที่สองพบการกระทำผิดจริง ซึ่งจำแนกได้ 3 ลักษณะคือ

  1. กระทำผิดระเบียบทางการเงิน แต่ไม่เจตนาทุจริต เช่น โอนเงินไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจการเงิน แต่มีการนำเงินจำนวนมาแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิในภายหลังครบถ้วนแล้ว เช่น สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต
  2. กระทำผิดระเบียบทางการเงินและส่อไปในทางทุจริต เช่น การโอนเงินไปยังบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์และต่อมาผู้มีสิทธิได้รับเงินไม่ครบถ้วน
  3. มีการทำถูกต้องตามระเบียบทางการเงิน แต่ส่อไปในทางทุจริต เช่น การให้ผู้มีสิทธิ์รับเงินถอนเงินคืนมาให้ อาจจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีการตรวจสอบแล้วพบว่า มีมูลกระทำผิดก็ได้สั่งให้แต่ละกองบัญชาการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 84 เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อไป

สำหรับระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยนั้น มีระยะเวลาดำเนินการนับ แต่ประธานกรรมการได้รับคำสั่ง 60 วัน หากยังไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายระยะเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วันและหากคณะกรรมการฯ สอบสวนแล้วพบว่า พฤติการณ์ของผู้กระทำเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ก็จะต้องมีความเห็นเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และหากพบว่า มีความผิดอาญาทุจริตต่อหน้าที่ราชการด้วยแล้วจะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการตามกฎหมายตามอำนาจหน้าที่

พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวอีกว่า สำหรับระยะเวลาการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาพรวมทั้งหมดนั้นเนื่องจากหน่วยงานและผู้มีสิทธิ์เบิกทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมากต้องใช้เวลาตรวจสอบพอสมควร แต่ผมได้สั่งการกำชับลงไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ว่าในส่วนที่ตรวจพบการกระทำผิดแล้ว ก็ให้ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทุกราย และกองบัญชาการใดที่ยังตรวจสอบไม่ครบทุกหน่วยก็ให้ตรวจสอบให้ครบ 100% ถ้าพบการกระทำผิดเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาด โดยให้รายงานมาให้ทราบทุก ๆ 15 วัน คือทุกวันที่ 1 และ 15 เพื่อกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำนักงานจเรตำรวจจะคอยติดตาม เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าถ้ายังไม่เรียบร้อยหรือมีการร้องเรียนมาอีกผมก็จะสั่งให้จเรตำรวจส่วนกลางลงไปดำเนินการ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจ ระดับปฏิบัติการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ อย่างยากลำบากเสียสละ เพื่อพี่น้องประชาชน จึงได้จัดสรรเงินงบประมาณ มาให้เป็นเบี้ยเลี้ยงที่ควรจะได้รับและต้องให้ถึงมือผู้ปฏิบัติจริงๆ

ดังนั้น เมื่อปรากฏเรื่องร้องเรียนขึ้นมา ก็ได้สั่งการให้มีการสั่งตรวจสอบเรื่องนี้ ในทันทีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เรื่องที่ทำการตรวจสอบอยู่นี้ แม้ไม่มีการร้องเรียนตามระบบทางราชการ เป็นการร้องเรียนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องผ่านไป เราก็รีบดำเนินการโดยทันทีไม่มีการละเว้น

“ในส่วนของหน่วยปฏิบัติ ก็ได้มีการกำชับให้ผู้บริหารหน่วยทั้งในระดับ ผกก., ผบก. และผบช. ให้ใส่ใจในเรื่องดังกล่าวทุกขั้นตอน รวมทั้ง การเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้อง รวมทั้ง ต้องมีการสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ได้รับรู้กันอย่างทั่วถึง และ ถูกต้องชัดเจนไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด คือ ต้องทำอย่างโปร่งใส ผมคิดว่า การดำเนินการอย่างจริงจังในครั้งนี้ น่าจะเป็นการป้องกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ผู้ที่คิดจะกระทำในลักษณะนี้อีก จะไม่กล้ากระทำเพราะเกรงว่า จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย” จเรตำรวจ กล่าว

นอกจากนี้ ได้เปิดช่องทางร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสข้อมูลอย่างเปิดกว้าง ในทุกช่องทางทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น ผ่านหมายเลข 1599 หรือ ร้องเรียนมายัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สำนักงานจเรตำรวจ ทั้งโดยการเข้ามาร้องเรียนด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์ หรือ ทางเว็บไซต์ และในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ จะรับฟังทั้งหมด

“ผมคิดว่าถ้าเราได้ทำในสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้วการกระทำในลักษณะนี้จะลดลงไปได้ แต่หากปรากฏขึ้นมาอีก ก็จะดำเนินการอย่างรวดเร็วไม่มีการละเว้นและมีบทลงโทษกับผู้กระทำผิดอย่างแน่นอนอันนี้ผมขอยืนยัน” จเรตำรวจ ระบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo