Economics

คนละครึ่ง ไขข้อสงสัย! ลงทะเบียนเสร็จแล้วต้องทำอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

คนละครึ่ง ไขข้อสงสัย! ลงทะเบียนรอบ 2 เสร็จแล้วต้องทำอย่างไร สามารถเดินไปซื้อของตามร้านค้าได้เลยหรือไม่ ร้านค้าไหนร่วมโครงการบ้าง ที่นี่มีคำตอบ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่ง ซึ่งเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่มเติม จำนวน 2.5 ล้านสิทธิ ภายใต้กลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านสิทธิ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com นั้น ล่าสุด มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งอย่างมาก และลงทะเบียนครบจำนวนในเวลาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงทะเบียนคนละครึ่งรอบ 2 สำเร็จแล้ว ประชาชนต้องรอ SMS แจ้งผลการลงทะเบียนภายใน 3 วัน สำหรับยอดลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ และยอดผู้ที่ได้รับสิทธิที่ถูกตัดสิทธิจากการไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน จะมีการรวบรวมมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่ต่อไป

คนละครึ่ง

ทั้งนี้ ประชาชนที่ลงทะเบียนสำเร็จและได้รับ SMS ยืนยันสิทธิแล้ว ขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย โดยท่านสามารถเติมเงิน จำนวนเท่าใดก็ได้ตามต้องการเข้าไปในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก็จะสามารถใช้สิทธิซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการร้านค้าที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ ท่านจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อีก

สำหรับวิธียืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” มีดังนี้

1. พิมพ์ค้นหา “เป๋าตัง” ในช่องค้นหา APP Store หรือ Google Play หรือ Play Store

2. เลือก “ติดตั้ง”

3. ระบุ เบอร์มือถือ

4. ยืนยัน OTP 6 หลักที่ได้รับจาก SMS ตามเบอร์ที่กรอกในหน้าแรก

5. กดเลือกยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ และกด ตกลง

6. ระบุ PIN เป็นตัวเลข 6 หลักเป็นรหัสที่ต้องใช้ในการทำรายการทุกครั้ง

7. ยืนยันการตั้งค่ารหัส PIN 6 หลัก

8. ผูกบัญชี หรือเปิด G-Wallet ได้จากหน้านี้

เป๋าตัง1 1 คนละครึ่ง

ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่นได้ หรือยืนยันตัวตนไม่ผ่าน สำหรับผู้ที่ยืนยันตัวตน โครงการ “คนละครึ่ง” ไม่ผ่านทำเองได้ที่ “ตู้ ATM สีเทา” รุ่นใหม่ของธนาคาร โดยไม่ต้องไปที่สาขา โดยทำตามวิธีต่อไปนี้

1. นำบัตรประชาชนไปทำการยืนยันตัวตนผ่านตู้ ATM กรุงไทย

  • เลือกเมนู “ยืนยันตัวตน” (ไม่ต้องใช้บัตร ATM)
  • ยืนยัน “การเป็นเจ้าของบัตรประชาชน”
  • ยินยอมให้ “เปิดเผยข้อมูลพิสูจน์ตัวตน”
  • เสียบบัตรประชาชน รอระบบตรวจสอบข้อมูลยืนยันตัวตนของท่าน
  • เมื่อระบบตรวจสอบเสร็จนำบัตรประชาชนออก และดำเนินการต่อบนแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เป็นอันเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการครบ ก็สามารถใช้จ่ายกับร้านค้า ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรับสิทธิได้ ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น.

นายพรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.9 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 7,410,937 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 11,889 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 6,059 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 5,830 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 210 บาทต่อครั้ง

โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ขอความร่วมมือประชาชน และร้านค้า ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้ร้านค้าอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า เนื่องจาก จะเป็นการเอาเปรียบประชาชนและทำลายบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอย ตามโครงการคนละครึ่ง

อีกทั้งประชาชน โปรดอย่าหลงเชื่อ การเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ในการช่วยดำเนินการโดยไม่มีการใช้จ่ายจริงอย่างเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการสนับสนุน ให้เกิดการกระทำความผิดและมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขโครงการ โดยหากตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดจริง จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชันและระงับการจ่ายเงินร้านค้าทันที

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน เพื่อรักษาระดับการบริโภคของประชาชนและกระจายรายได้ไปยังร้านค้ารายย่อยได้อย่างต่อเนื่อง

การค้นหา “ร้านค้าคนละครึ่ง”

ผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว สามารถเช็คร้านค้าคนละครึ่ง ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือคลิก ที่นี่ จากนั้นจะมีช่องค้นหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

ผู้มีสิทธิ์สามารถคลิกค้นหาร้านค้า พื้นที่ใกล้ฉัน หรือตามรายชื่อจังหวัด รวมถึงสามารถค้นหาด้วยชื่อร้านค้าและระดับราคาได้อีกด้วย

คนละครึ่ง

คนละครึ่ง

สำหรับ ร้านค้าคนละครึ่ง มีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านธงฟ้า ร้านค้า OTOP และสินค้าทั่วไป

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (24 ต.ค. 63) พบว่า ในกรุงเทพฯ มีร้านค้าคนละครึ่งลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและสามารถใช้สิทธิ์ได้แล้วประมาณ 2.4 หมื่นร้าน แบ่งเป็นดังนี้

  • ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 18,494 ร้าน
  • ร้าน OTOP 428 ร้าน
  • ร้านธงฟ้า 1,289 ร้าน
  • ร้านทั่วไป 4,491 ร้าน

คนละครึ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo