Economics

สรุปผล ‘ชิมช้อปใช้’ ประชาชนแฮปปี้ คาดหนุนจีดีพีโต 0.1-0.3%

ชิมช้อปใช้ “ครม.” รับทราบผลโครงการ เผยประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจต่อเงินสนับสนุน คาดส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.1 – 0.3% พร้อมรับทราบผลสำรวจต่อการบริหารงานของรัฐบาล

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสรุปผลการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสรุปในภาพรวมของการดำเนินงาน มาตรการชิมช้อปใช้ ได้ส่งผลบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.1 – 0.3%

ชิมช้อปใช้

ขณะที่ความพึงพอใจของประชาชนนั้น จากการสำรวจพบว่า มีความพึงพอใจต่อเงินสนับสนุน 1,000 บาท 74.6% พึงพอใจต่อความปลอดภัยในการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง 74.2% และมีความพึงพอใจต่อความสะดวกในการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 73.9%

สำหรับผลการดำเนินมาตรการในช่วงระหว่างวันที่ 27 กันายน 2562 – 31 มกราคม 2563 มีผู้ได้รับสิทธิจำนวน 14,354,159 คน มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 11,802,073 คน มีร้านค้าที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์จำนวน 103,053 ร้าน มียอดการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (g-Wallet) รวม 28,819 ล้านบาท แยกเป็น ช่องที่ 1 จำนวน 11,671 ล้านบาท และช่องที่ 2 จำนวน 17,148 ล้านบาท กระทรวงการคลังจ่ายเงินชดเชยรวม 12,930 ล้านบาท

ส่วนผลประเมินความคุ้มค่าและความพึงพอใจ พบว่า ยอดการใช้จ่ายของร้าน ชิมช้อปใช้ รวมกันมีมูลค่ามากกว่าร้านค้าทั่วไป 7.8 เท่า และการใช้จ่ายส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับร้านโอทอป และ ร้านธงฟ้าประชารัฐ แสดงให้เห็นว่าร้านค้ารายย่อยได้รับรายได้จากมาตรการมากกว่าร้านค้ารายใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีการกระจายตัวของการใช้จ่ายครอบคลุมทั่วประเทศและลงไปถึงร้านค้ารายย่อย รวมทั้งได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และการสร้างฐานช้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป

ชิมช้อปใช้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลในปี 2563 ครบ 1 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 6,970 คนระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน 78.6% ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ส่วนแหล่งที่ติดตามมากที่สุดคือจากโทรทัศน์ 93.7% รองลงมาคือ อินเตอร์เน็ต เช่น เว็บไซด์ เฟซบุ๊ก ไลน์ 50.1%

“ส่วนความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด 33.4% ในระดับปานกลาง 48% สำหรับนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาโควิด-19 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่(UCEP) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับเรื่องที่ประชาชนมองว่าเป็นความเดือดร้อนในชุมชนและหมู่บ้านได้แก่ คนในชุมชนว่างงานหรือไม่มีอาชีพมั่นคง 29.9% สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ค่าครองชีพสูง 18.7% สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ 18% ภัยธรรมชาติ 16.7% และปัญหายาเสพติด 7.3%

ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรียงลำดับ ดังนี้ ปัญหาการว่างงาน 41.2% ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง 20.4% ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ 19.1% จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร 11.5% และจัดสวัสดิการของรัฐให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ 8.5%

ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศในระดับมาก-มากที่สุด 29.8% เชื่อมั่นปานกลาง 48.7% และเชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุด 18.4% ไม่เชื่อมั่นเลย 3.1%

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ คือ ควรให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานหรือว่างงาน เช่น การจ้างงานชั่วคราว การหาตลาดรองรับสินค้าของชุมชน การจัดอบรมวิชาชีพ และควรให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ เช่นการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการลดค่าสาธารณูปโภค

รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพ เช่น แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ การพยุงราคาสินค้าเกษตร และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรสมัยใหม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo