Business

วันนี้เงินเข้า !! ชาวนากางกระเป๋ารอ เงินส่วนต่างประกันรายได้ ข้าวหอมมะลิตันละเฉียด 3 พัน

จ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ วันนี้ (16 พ.ย.)  ข้าวหอมมะลิ รับสูงสุด ตันละเฉียด 3,000 บาท หลัง “พาณิชย์” เคาะจ่ายงวดที่ 1 ปี 63/64 ดึงผลผลิตส่วนเกินเข้าสต็อก

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดี กรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลาง อ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เปิดเผยว่า การพิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และการชดเชยส่วนต่างราคา ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 งวดที่ 1 มีมติ จ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 โดย ข้าวหอมมะลิ ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด

จ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้

เกษตรกรที่มีสิทธิได้รับเงินส่วนต่าง ประกันรายได้ดังกล่าว ต้องระบุวันที่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยว จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว เพราะทุกชนิดมีราคาต่ำกว่าราคาที่ประกันรายได้

โครงการประกันรายได้ ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด โดย ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

จากผลการพิจารณาราคาตลาดปัจจุบัน พบว่า

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 12,088.83 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 2,911.17 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,862.55 บาท มีส่วนต่างตันละ 2,137.45 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,777.64 บาท มีส่วนต่างตันละ 1,222.36 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 9,933.04 บาท มีส่วนต่างตันละ 1,066.96 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 9,915.66 บาท มีส่วนต่างตันละ 2,084.34 บาท

สำหรับเกษตรกร จะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 1 ดังนี้

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ 40,756.38 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 34,199.2 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้า 36,670.8 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 26,674 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว 33,349.44 บาท

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในวันนี้ (16 พ.ย.)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น การบริโภคในประเทศลดลง จากการไม่มีนักท่องเที่ยว เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การส่งออกปรับตัวลดลง จากการที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง เพราะเงินบาทแข็งค่า ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งผลักดันใช้มาตรการเสริม เพื่อชะลอผลผลิตข้าวเข้าสู่ตลาด โดยจะจูงใจให้เกษตรกร สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวทั่วไปเก็บสต็อก เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพราคาตลาด โดยมีเป้าหมาย 7 ล้านตันข้าวเปลือก

โครงการดังกล่าว จะเป็นการดำเนินโครงการผ่าน สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย สถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ 3% เป้าหมาย 4 ล้านตัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo