Economics

ค้านย้าย ‘สถานีขนส่ง’ กลับหมอชิตเก่า ชาวบ้านหวั่นถูกเวนคืนที่สร้างทางเชื่อม

ยื่นหนังสือค้านย้าย “สถานีขนส่ง” กลับ หมอชิตเก่า ชาวบ้านหวั่นโดนเวนคืนที่ดินสร้างทางเชื่อม-เพิ่มความแออัด ชี้ควรย้ายสถานีออกนอกเมืองจะดีกว่า

วันนี้ (10 พ.ย. 63) ตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหลังหมอชิตเก่า ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 กลับมายังพื้นที่หมอชิตเก่า ซึ่งอยู่บริเวณถนนพหลโยธิน ฝั่งตรงข้ามกับสวนสาธารณะจตุจักร ติดกับรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต

โดยนายศักดิ์สยาม มอบหมายให้ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับหนังสือจาก นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ผู้แทนชุมชนหลังสถานีขนส่งหมอชิตเก่า

วิรัช พิมพะนิตย์ หมอชิตเก่า

น.ส.วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ในนามผู้แทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า เปิดเผยว่า แผนการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสาร บขส. กลับมาแออัดยัดเยียดบริเวณหมอชิตเก่าไม่มีความเหมาะสมแล้ว เพราะสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ได้พัฒนาไปไกลกว่าเดิมมาก

โดยสถานี บขส. ที่ตั้งบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าหมอชิตใหม่ หรือหมอชิต 2 นั้นมีความเหมาะสมอยู่แล้ว เพราะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับรถขนส่งสาธารณะ รวมถึงเชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อและรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต

แต่หากจะย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกลับมายังโครงการคอมเพล็กช์ในบริเวณหมอชิตเก่า ก็จะทำให้เกิดความแออัดและสร้างปัญหาการจราจรให้กับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักอยู่แล้ว ในช่วงเวลาปกติและชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น

คัดค้าน

นอกจากนี้ การย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกลับมายังโครงการคอมเพล็กช์ในพื้นที่ หมอชิตเก่า จะส่งผลให้ต้องมีการใช้งบประมาณของรัฐบาล มาจ่ายค่าเวนคืนที่ดินและก่อสร้างทางเชื่อมลอยฟ้า โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกให้กับ รถ บขส. เพราะถือเป็นบริการสาธารณะ

ทั้งที่จริงแล้ว การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนลอยฟ้าเพื่อเป็นทางเข้า-ออกในโครงการนี้ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานสร้างคอมเพล็กซ์หรือโครงการมิกซ์ยูสมากกว่า เพราะโครงการพัฒนาที่ดิน โดยสร้างเป็นคอมเพล็กซ์บนที่ดินของกรมธนารักษ์บริเวณหมอชิตเก่านี้ จะมีการใช้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมด คือเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์  อาคารเช่าจอดรถ เป็นต้น ขณะที่สถานีรับส่งผู้โดยสารและ บขส. หรือภาครัฐจะได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพียง 15% เท่านั้น

ดังนั้น จึงเป็นการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ที่อาจขัดต่อหลักการ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการให้รัฐได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ซึ่งอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้

“เรายังสงสัยถึงความพยายามที่จะผลักดันให้มีการย้ายสถานี บขส. กลับมาที่หมอชิตเก่าว่าเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างหรือเป็นเหตุผลสนับสนุน การเวนคืนที่ดินและสร้างถนนลอยฟ้าหรือไม่ เพราะหากไม่ย้ายสถานี บขส.กลับมา เหตุผลหรือข้ออ้างในการสร้างถนน เพื่อใช้เป็นทางออกให้รถโดยสาร บขส.ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีความจำเป็น จึงอาจมีขั้นตอนหรือการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เราในฐานะชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จึงมาร้องคัดค้านและขอความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะผู้กำกับดูแล วางแผนระบบการคมนาคมของประเทศทั้งหมด” น.ส.วินินท์อรกล่าว

อาคารสถานีขนส่ง ๑๙๑๒๒๐ 0005
สถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน

หากรัฐบาลจะต้องนำงบประมาณจากเงินภาษีประชาชน มาใช้ทั้งเวนคืนและก่อสร้างถนนลอยฟ้า รวมๆ แล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 2,000 ล้าน หากจะย้ายกลับมาหมอชิต ควรเอาเงินให้ บขส. ไปซื้อที่ดิน ย้ายไปสร้างสถานีออกนอกเมืองดีกว่า ที่จะให้เข้ามากระจุกตัวอยู่กลางใจเมืองเช่นนี้ ซึ่งเป็นหลักการกระจายความเจริญและความแออัดขยายออกไปนอกเมือง ที่ทั่วโลกเขาทำกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo