Digital Economy

5 ข้อควรเข้าใจ ก่อนยื่นอุปกรณ์ดิจิทัลให้เด็ก

mobile 2639332 1280

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่หลาย ๆ อย่างต้องดำเนินไปด้วยความเร่งรีบ ฉับไว และต้องติดต่อได้ทันเวลา อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยได้พกพาโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยังอายุน้อย แต่ที่น่าสนใจคือ เด็ก ๆ หลายคนยังมีตัวตนบนโลกดิจิทัลเสียด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนมีแอคเคาน์เฟซบุ๊ก แอคเคาน์ไลน์ แล้วตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งผู้ปกครองอาจสมัครให้ด้วยเหตุผลด้านความสะดวกในการติดต่อ* ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังเรื่องความเข้าใจในโลกดิจิทัลก่อนหยิบยื่นอุปกรณ์เหล่านี้ให้เด็กๆ จึงเป็นสิ่งที่เราอยากนำมาฝากกัน โดยสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการใช้งานดิจิทัลอย่างเหมาะสมมีดังต่อไปนี้

1. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

ข้อนี้สำคัญที่สุด ข้อมูลส่วนตัวที่ว่านี้คือ ชื่อ ชื่อเล่น ชื่อคุณพ่อคุณแม่ เบอร์โทรศัพท์ วันเกิด ที่อยู่ ชื่อโรงเรียน ภาพถ่ายของตัวเอง ฯลฯ เพราะข้อมูลเหล่านี้เมื่อปรากฏบนโลกดิจิทัลแล้ว โอกาสที่จะตกไปอยู่ในมืออาชญากรไซเบอร์นั้นมีสูงมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด

2. สอนเรื่องการซื้อของบนโลกออนไลน์

ก่อนจะยื่นอุปกรณ์ดิจิทัลให้เด็ก สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอีกข้อหนึ่งคือ มันมีการซื้อขายสินค้าและบริการอยู่เช่นกัน เพียงแต่การซื้อของบนโลกดิจิทัลอาจมีรูปแบบที่แตกต่างกับโลกในความเป็นจริง เพราะเด็กอาจไม่เข้าใจ และกดซื้อไปโดยที่ไม่ทันระวัง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ลูกใช้บัตรเครดิตของคุณพ่อคุณแม่ซื้อไอเท็มเกม ซื้อบ้านตุ๊กตา ฯลฯ เป็นต้น

3. สอนเรื่องการใช้สื่อต่าง ๆ

เมื่อมีโทรศัพท์มือถือ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่ลูกจะเปิดแอปพลิเคชันต่าง ๆ ขึ้นมาเล่น ซึ่งแอปพลิเคชันเหล่านั้นมักจะกระตุ้นให้เกิดการโพสต์ การแชร์ ฯลฯ ด้วย แต่ก่อนจะโพสต์อะไรลงไป ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจกับเด็กก่อนว่า มีอะไรบ้างที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น

  • ไม่โพสต์ภาพลามก
  • ไมโพสต์ข้อความหยาบคาย
  • ไม่โพสต์ภาพตัดต่อ หรือดัดแปลงที่อาจทำให้ผู้ที่ถูกตัดต่อนั้นถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
  • ไม่โพสต์ภาพผู้เสียชีวิต
  • ไม่โพสต์ข้อความบิดเบือนที่อาจทำให้ผู้อื่นเสียหายได้

การกระทำเหล่านี้มีโทษทางกฎหมาย และยังมีอีกหลายข้อนอกจากที่เรายกตัวอย่างมา ผู้ปกครองสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ กฤษฎีกา.com 

4. การทำความรู้จักกับคนบนโลกดิจิทัล

ทุกวันนี้ โลกดิจิทัลพยายามเชื่อมโยงให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น เพราะยิ่งผู้ใช้งานมีการเชื่อมต่อกันมากเท่าใด ก็จะกลายเป็นข้อมูลมากขึ้นให้แพลตฟอร์มใช้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ผู้ปกครองต้องมีการทำความเข้าใจว่า ไม่ควรพูดคุยกับคนแปลกหน้าผ่านอุปกรณ์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเชื่อมต่อเข้ามาผ่านช่องทางใดก็ตาม เพราะมีโอกาสสูงที่จะเป็นอาชญากรไซเบอร์ และล่อลวงเด็ก ๆ ไปทำอันตรายได้ รวมถึงการชี้แจงให้พี่เลี้ยง หรือญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยดูแลเด็ก ๆ ระมัดระวังด้วย

5. ดูแลการใช้งานด้วยแอปพลิเคชัน Parental Control

นอกจากการสอนให้ลูกมีความเท่าทันภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ข้อสุดท้าย อาจเป็นผู้ปกครองเองที่ต้องระมัดระวัง และหาตัวช่วยในการจำกัดการใช้งานของลูก ๆ ไว้เช่นกัน ซึ่งในอุปกรณ์ดิจิทัลหลายยี่ห้อจะมีส่วนของ Parental Control เพื่อจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ – แอปพลิเคชันที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงรายงานการใช้งานของลูก ๆ ให้ผู้ปกครองได้ทราบ แต่ถ้าไม่มี ในจุดนี้สามารถหาแอปพลิเคชันเพิ่มเติมได้จาก App Store หรือ Google Play Store

การมีแอปพลิเคชันเหล่านี้ติดตั้งเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ไว้ใจ หรือไม่เชื่อใจเด็ก แต่มันสามารถช่วยให้ผู้ปกครองได้มองเห็นว่ามีจุดใดที่เด็กอาจพลาดไป และสามารถตักเตือนได้แต่เนิ่น ๆ เพราะอย่าลืมว่า จุดเด่นของโลกดิจิทัลคือ “ข้อมูล” แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกิดจากความผิดพลาดของเด็กก็ตาม และมันจะถูกบันทึกไว้ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งเสมอ ไม่สามารถถูกลบออกได้โดยง่าย

ท้ายที่สุดเราอยากบอกว่า ทั้ง 5 ข้อนี้อาจเป็นวัคซีนเข็มเล็ก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องได้รับก่อนก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล แต่ก็เป็นเข็มเล็ก ๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้จักระวังภัย และปกป้องตัวเองได้เมื่ออันตรายจากโลกดิจิทัลมาเคาะประตู

หมายเหตุ – เฟซบุ๊กไม่อนุญาตให้ผู้ที่อายุไม่ถึง 13 ปีสมัครใช้งาน ในกรณีที่พบสามารถรีพอร์ตได้ที่ https://www.facebook.com/help/contact/209046679279097

Avatar photo