Business

ตามคาด! บิ๊กราง 2 ค่าย ‘BTS-BEM’ ยื่นประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไร้เงา GULF

ตามคาด! บิ๊กระบบราง 2 ค่าย “BTS-BEM” ยื่น ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ชิงสัมปทาน 30 ปี มูลค่า 1.4 แสนล้าน แต่ไร้เงา GULF เข้าร่วม

ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทนั้น

ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ที่ผ่านมามีเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตั้งแต่วันที่ 10 – 24 กรกฎาคม 2563 จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย โดย รฟม. ได้เปิดรับซองข้อเสนอในวันนี้ (9 พ.ย. 63) และมีบริษัทยื่นซองข้อเสนอ จำนวน 2 ราย ดังนี้

  • บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน รวมถึงบริหารระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) หลายเส้นทาง
  • กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

บริษัท ซิโน – ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

617868

ทั้งนี้ โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร

  • ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี
  • ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ซื้อ RFP รายอื่นๆ ที่น่าจับตามอง เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ไม่ได้มีชื่อร่วมข้อเสนอในครั้งนี้

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ภาคภูมิ ศรีชำนิ

รอบนี้ “RATCH” ไม่คอนเฟิร์มร่วมวง BSR

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 14.39 น. วันนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางไปยื่นเอกสาร ประมูล โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์– มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สำนักงานใหญ่ รฟม.

นายสุรพงษ์ กล่าวภายหลังยื่นซองการประมูลว่า วันนี้ได้เดินทางมายื่นซองการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  โดยประกอบไปด้วย 3 บริษัท  คือ BTSC, BTS และ STEC สัดส่วนถือหุ้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ 

ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่ม BSR นั้น ยังสนใจที่จะเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ เราจึงยังใช้ชื่อ กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ส่วนจะร่วมภายหลังได้หรือไม่นั้น ต้องรอดูตอนชนะอีกครั้ง 

ส่วนเงื่อนไขการประมูลยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังอยู่ในระหว่างประกวดราคา การทำข้อเสนอของเราที่เตรียมมาในวันนี้ทำเต็มที่ และยื่นครบทั้งหมด 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวม 400 กว่าลัง ส่วนเงื่อนไขเรายังทำตามทีโออาร์แรก

“วันนี้ BTS พร้อมมาก เราเป็นคนทำงานก็ต้องมั่นใจเต็มที่ ถ้าชนะเราอาจจะหาคนที่มาเป็นหุ้นส่วนได้ภายหลัง ส่วนกรณีหลังจากมีคำสั่งศาล รฟม. ยังไม่มีการเรียกคุยอะไร” นายสุรพงษ์กล่าว

S 12992611

ประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” สุดอลเวง

สำหรับประมูลครั้งนี้เป็นศึกชิงสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม 30 ปี มูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งระบบ ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ในโครงการนี้ ภาครัฐจะลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ส่วนตะวันตก ด้านเอกชนจะต้องลงทุนค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตกค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นระยะเวลาเดินรถ 30 ปี

S 12992614 0

อย่างไรก็ตาม ก่อนการยื่นซองประมูลวันนี้ก็ได้มีประเด็นวุ่นวายเกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่เห็นชอบให้ปรับเกณฑ์การประมูลหลังจากเปิดขาย RFP ไปแล้ว โดยเกณฑ์ประมูลเดิมจะใช้คะแนนผลตอบแทนตัดสิน 100% ก็ให้เปลี่ยนเป็นการนับคะแนนแบบถ่วงน้ำหนัก ด้านเทคนิคมีสัดส่วน 30% และด้านผลตอบแทน 70%

กลุ่ม BTS มองว่ามติดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้ รฟม. กลับมาใช้เกณฑ์ประมูลแบบเดิม ซึ่งศาลฯ ก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ BTS ร้องขอ โดยยังสามารถเดินหน้าประมูลตามขั้นตอนเดิม

ด้าน รฟม. ก็ตัดสินใจจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฯ ดังกล่าว จึงต้องรอติดตามว่า กระบวนการต่อสู้ในชั้นศาลระหว่าง รฟม. และ BTS จะมีผลสรุปอย่างไร และจะส่งผลต่อการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ในครั้งนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo