Business

ชง ครม. พิจารณาสถานะ ‘กรุงไทย’ เป็นหน่วยงานรัฐ แก้ปมพ้นรัฐวิสาหกิจ

“อาคม” เร่งแก้ปม “ธนาคาร กรุงไทย” พ้นสถานะ รัฐวิสาหกิจ ชง ครม. ดึงกลับมาเป็น “หน่วยงานรัฐ” อิงกฎหมายแบงก์ชาติ

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ธนาคารกรุงไทย (KTB) ไม่เข้าข่ายเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมของหน่วยงานราชการผ่านธนาคารกรุงไทยนั้น

86659861 10159538057788916 784388124921823232 o

ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า หากพิจารณาสถานะของ ธนาคารกรุงไทย ตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ จะถือว่าพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจแล้ว

แต่หากพิจารณาตามกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังถือเป็นหน่วยงานรัฐ เพราะผู้ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยคือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ ธปท. ดังนั้น จึงถือว่า ธนาคารกรุงไทยยังเป็นธนาคารของรัฐ โดยกระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า

“เราจะเสนอไปที่ ครม. ให้ธนาคารเป็นหน่วยงานการใช้บริการของรัฐเหมือนเดิม เพราะธนาคารกรุงไทยเป็นกลไกอีกอันหนึ่งที่เข้าไปช่วยดูแลการดำเนินงานให้กับโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น การจ่ายเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ดังนั้น กรุงไทย ยังสามารถทำส่วนนี้ได้อยู่” นายอาคมกล่าว

ด้านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสวัสดิการของพนักงานธนาคาร กรุงไทย นั้น จะต้องเข้าไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง

87038986 10159538059113916 3897412848065708032 o

เปิดคำวินิจฉัย “ธนาคาร กรุงไทย” พ้น รัฐวิสาหกิจ

การวินิจฉัยล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนตุลาคม 2563 เกิดหลังจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินขอให้วินิฉัยว่า กองทุนฯ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของ ธนาคารกรุงไทย เนื่องจากคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” มีการนิยามในกฎหมายหลายฉบับ และมีความแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยแล้วในปี 2543 ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่ต่อมามีการปรับปรุง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 และมีการใช้ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยม “รัฐวิสาหกิจ”

ตามมาตรา 4 จาก “องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ” เป็น “องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ”

กองทุนฯ จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

  • กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้นมากกว่า 50% มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
  • กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 หรือไม่ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่ากรรมการกองทุน ไม่ถือเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
  • หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอและกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นสรุปได้ ดังนี้

  1. กองทุนฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามคำนิยาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 กำหนดให้ ธปท. เป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น เนื่องจากกองทุนฯ เป็นหน่วยงานใน ธปท.
  2. นอกจากนี้ กองทุนฯ ไม่ได้เป็น “หน่วยงานรัฐ” ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เนื่องจากไม่ได้รับเงินงบประมาณ หรือ รายจ่ายอุดหนุนจากงบประมาณ เนื่องจากได้รับเงินจากอำนาจหน้าที่ของกองทุนฯ เอง และได้รับการจัดสรรจาก ธปท.
  3. ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกองทุนฯ ถือหุ้น 55.07% 
  4. สำหรับประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น กฤษฎีกาไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าต้องปฏิบัติตามประกาศของ ป.ป.ช. อยู่แล้ว 
  5. ประเด็นเรื่องการมองฉันทะ หรือ มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังได้หรือไม่นั้น สามารถดำเนินการได้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.มหาชนจำกัด 2535 และการกำกับดูแลนั้นต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo