Economics

ถกพ.ร.บ.น้ำแรง 7 ชม.ก่อนนัดลงมติ 4 ต.ค.นี้

ห้องประชุมสนช.

สนช.ถกร่างกฎหมายน้ำเข้มข้น 7 ชม.ก่อนนัดลงมติ 4 ตุลาคม กมธ.ย้ำประชาชน-เกษตรรายย่อยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ เคลียร์กลไกตั้งศูนย์บัญชาการฯเน้นแก้วิกฤติน้ำของประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมหวั่นรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตกระทบสิทธิเอกชน   พร้อมขอมีเอี่ยวนั่งกนช.กำหนดนโยบายน้ำของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีพลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์  เป็นประธานได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยใช้เวลาการประชุมกว่า 7 ชั่วโมง

เอกชนหวั่นเปิดทางรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต

มาตราหลักที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางของสมาชิกสนช. คือ มาตรา 6 ซึ่งเป็นบททั่วไปเกี่ยวกับ “การใช้ทรัพยากรน้ำ ที่ให้รัฐมีอำนาจใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน…”

สมาชิกสนช. นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)  เห็นว่า มาตรานี้เปิดทางให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป หรือควบคุมการจัดการทั้งหมด โดยไม่มีหลักเกณฑ์ สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

จึงมีการอธิบายตอบโดยนายรอยัล จิตรดอน นักวิชาการด้านน้ำว่า มาตรานี้มีขึ้น เพื่อให้รัฐมีอำนาจจัดสรร ตามหลัก  Water Budget หรืองบประมาณน้ำ ทำให้สามารถจัดสรรต้นทุนน้ำในแต่ปีได้

ประเด็นนี้ที่ประชุมได้ ข้อสรุปให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 6  ว่าการใช้ของรัฐ… จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างสมดุลและยั่งยืน

อุตสาหกรรมขอมีเอี่ยวนั่งกนช.กำหนดนโยบายน้ำประเทศ

นอกจากนี้ใน มาตรา 9  ที่กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประเภท และกรรมการมาจากหลายภาคส่วน โดยภาคเอกชนต้องการให้มีตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วยในฐานะผู้ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำ โดยอ้างถึงกรณีน้ำท่วมปี 2554 ที่สร้างความเสียหาย ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วย และให้นั่งในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ปรับคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดรับกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีตัวแทนภาคเอกชน เข้าไปเป็นกนช.มีเพียงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคลภายนอกให้นั่งในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน โดยกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี   เนื่องจากถือว่าเป็นหน่วยกำหนดนโยบายน้ำของประเทศในภาพใหญ่  ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ ขณะที่ภาคเอกชนมีที่นั่งในระดับคณะกรรมการลุ่มน้ำอยู่แล้ว

พลเอกอกนิษฐ์
พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์

 

เคลียร์นิยาม “วิกฤติน้ำ” ก่อนตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงใน มาตรา 23/1  ให้นายกรัฐมนตรีตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ อำนวยการแก้ไขปัญหาเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นระบบ Single Command  เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศตามกรอบ “เซนได โมเดล”  เนื่องจากมีการพิสูจน์มาแล้วถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ จากเหตุการณ์สึนามิที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น และกรณีช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมู่ป่าที่ถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในศุูนย์ฯเฉพาะกิจ และบัญชาการโดยหัวหน้าศูนย์ฯ เพื่อความเป็นเอกภาพ

ที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงเป็นเวลานาน โดยสรุปให้กำหนดนิยามของ “วิกฤติน้ำ” ที่ต้องใช้การบริหารจัดการโดยศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งจะมีการแขวนไว้ก่อนลงมติ โดยให้คณะกรรมาธิการฯไปพิจารณาอีกครั้ง

ยันไม่เก็บค่าน้ำจากประชาชน-เกษตรกรรายย่อยที่ใช้น้ำสาธารณะ

มาตรา 39 ซึ่งเป็นหัวใจหลักของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ คือ การแบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งก่อนจะเริ่มพิจารณา พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้แถลงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนอีกครั้งว่า “ประชาชนที่ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์ เพื่อยังชีพ จะไม่ได้รับผลกระทบแต่ประการใด โดยไม่ต้องมีการขอใช้น้ำ หรือจ่ายค่าน้ำจากการใชน้ำสาธารณะ” 

การใช้น้ำประเภทที่ 2  หรือ การใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา หรือกิจการอื่น และประเภทที่ 3 หรือ การใช้น้ำกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมากเท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากอธิบดีกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรืออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแล้วแต่กรณี โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด คือ ประเภทที่ 2 ฉบับละไม่เกิน 10,000 บาท ประเภทที่ 3 ฉบับละไม่เกิน 50,000 บาท

อย่างไรก็ตามผู้ใช้ทรัพยากรน้ำที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังกล่าว ถูกกำหนดในมารตรา 2 ว่าจะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับจากวันที่พ.ร.บนี้ใช้บังคับ เพื่อให้มีการกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ และต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ให้การใช้น้ำเพื่อ”พาณิชยกรรม”เข้ากลุ่ม 2-3

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ได้มีการอภิปรายในมาตรา 39 คือ การขอให้มีการกำหนดการใช้น้ำเพื่อ “พาณิชยกรรม”  เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน ว่าจัดอยู่ในกลุ่มประเภทผู้ใช้น้ำประเภทที่ 2 หรือ 3 เพื่อไม่ให้เกิดการตีความในภายหลัง

เมื่อพิจารณาจนพ.ร.บ.จำนวน 102 มาตราแล้ว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.กำหนดให้มีการหารือในมาตราที่ได้มีการแขวนไว้ ประกอบด้วย มาตรา  6 มาตรา 23/1  และมาตรา 39 ในวันที่ 4 ตุลาคมก่อนลงมติในวันเดียวกัน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight