Economics

เตรียมงบเวนคืน 2.4 พันล้าน สร้างถนนเชื่อม ‘สะพานนนทบุรี 1-กาญจนาภิเษก’

แก้รถติดฝั่งตะวันตกกรุงเทพฯ “ทช.” เตรียมทุ่มงบ 2.4 พันล้าน สร้างโครงข่ายถนนเชื่อม “สะพานนนทบุรี 1 -กาญจนาภิเษก”

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการจราจรบนโครงข่ายถนนบริเวณฝั่งตะวันตกด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ มีสภาพหนาแน่น ทั้งบนเส้นทางของถนนนครอินทร์ในทิศทางขาเข้า ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 5 รวมถึงทางขึ้น – ลง และจุดตัดทางแยกต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีสาเหตุจากปริมาณรถส่วนหนึ่งต้องเดินทางผ่านถนนสายหลักเดิมในพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ

แต่เนื่องด้วยถนนสายหลักเดิมเหล่านั้น มีปริมาณจราจรเกินกว่าที่ถนนจะรองรับได้ ส่งผลให้การจราจรติดขัดต่อเนื่องและสะสมเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับการที่ ทช. ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ถนนนนทบุรี 1 (สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) แล้วเสร็จ ประชาชนจึงได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

ถนน สะพานนนทบุรี 1

ดังนั้น การก่อสร้างโครงการถนนเชื่อมต่อ สะพานนนทบุรี 1 มายังถนนกาญจนาภิเษก จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่โครงข่ายคมนาคม สามารถใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางระหว่างด้านตะวันตก – ตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงกับถนนสายหลักที่สำคัญในแนวเหนือ – ใต้ ได้อีกด้วย

โดยลักษณะของโครงการเป็นถนนก่อสร้างใหม่ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนเชื่อมต่อสะพานนนทบุรี 1 (บริเวณทางแยกต่างระดับถนนราชพฤกษ์) วางตัวมาทางทิศตะวันตก ข้ามถนนบางกรวย – ไทรน้อย ผ่านพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่โล่งข้ามคลองบางกอกน้อย จนบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงหมายเลข 9) ระยะทางรวมประมาณ 3.827 กิโลเมตร

1604891530239

รูปแบบของโครงการเป็นถนนที่มีผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 6 – 8 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร พร้อมทางเท้าทั้งสองข้างกว้างข้างละ 3.75 เมตร มีเขตทางโดยประมาณ 40 เมตร แบ่งทิศทางการจราจร ไป-กลับ มีสะพานยกระดับ (Overpass) ข้ามจุดตัดกับถนนบางกรวย – ไทรน้อยสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย และทางแยกต่างระดับ (Interchange) บริเวณจุดตัดกับถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ ทั้งนี้ โครงการกำหนดให้ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดอยู่ใต้ดิน

ปัจจุบัน ทช. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์และประมาณราคาเพื่อกำหนดเป็นค่าทดแทนในการเวนคืน คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,396 ล้านบาท เพื่อนำที่ดินมาดำเนินการก่อสร้างทางหลวงชนบทต่อไป โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นเวลาทั้งสิ้น 270 วัน การดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะใช้ระยะเวลา 1 ปีงบประมาณและการดำเนินงานก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo