Politics

เตรียมพร้อม! รัฐบาลยกระดับแผนรับมือฝุ่นพิษ ย้ำเป็นวาระแห่งชาติ

ฝุ่นพิษ มาแล้ว รัฐบาลยกระดับแผนรับมือ “PM 2.5” ซึ่งมักจะมีความรุนแรงในช่วงการเปลี่ยนฤดู ย้ำเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือปัญหา ฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งมักจะมีความรุนแรงในช่วงการเปลี่ยนฤดู ซึ่งสาเหตุที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น การเผาพื้นป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร ขณะที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สาเหตุหลักมาจากการรถยนต์ดีเซลและการจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง บางขณะสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ จำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินงานร่วมกัน ดังนี้

ฝุ่นพิษ

1. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ประสานข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ และ Gistda จัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง เกิดเหตุ ตามกลไกพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 บังคับใช้กฎหมาย และเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” กำหนดสถานที่พักชั่วคราว หรือ Safety Zone แจ้งเตือนแนะนำข้อปฏิบัติตนแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย

2. ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ เร่งระบายการจราจรไม่ให้ติดขัด ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตรวจสภาพ/บำรุงรักษายานพาหนะขนส่งสาธารณะ ทำความสะอาดพื้นผิวถนน รวมทั้งควบคุมการเผาในที่โล่ง/พื้นที่เกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เป็นต้น

3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ ขยายเครือข่ายแจ้งเตือน จัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักวิชาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปรับพฤติกรรมประชาชน ในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชนหรือเมือง

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรียังเห็นชอบการทบทวนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อยกระดับความเข้มงวดของมาตรการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเพิ่มเติมแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤต โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มข้น เร่งการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และการเกษตรด้วย

“ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นและ PM 2.5 เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วย” นายอนุชา กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน” ก่อนหน้านี้ว่า ก่อนจะมีประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ กทม. ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้ เพื่อติดตามการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือค่าฝุ่นสูงที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศปิด ระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564

ฝุ่นพิษ

โดยปีนี้ กทม. และกองบังคับการตำรวจจราจรจะออกคำสั่งห้ามรถยนต์ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลา 06.00 – 21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อลดมลพิษจากควันรถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ รวมถึงงดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง

พร้อมกันนี้ จะขอความร่วมมือสถานศึกษา ให้งดจัดกิจกรรมในที่โล่งแจ้งในช่วงเดือนธันวาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 เช่นเดียวกัน หากสถานการณ์วิกฤติและค่าฝุ่นสูงต่อเนื่องเกิน 3 วัน จะพิจารณาให้ปิดโรงเรียนตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ในส่วนของการก่อสร้างต่างๆ เช่น อาคาร และรถไฟฟ้า หากในช่วงวิกฤติที่มีปริมาณฝุ่นสูงจะห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างบริเวณนอกอาคาร เพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย แต่ในพื้นที่ปิดภายในอาคารยังสามารถทำได้

ปัจจุบัน กทม.ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองครบทั้ง 50 เขตแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเพิ่มเติมอีก 20 แห่ง เพื่อให้ประชาชนที่ไปใช้พื้นที่ออกกำลังกายได้รับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศภายในสวนสาธารณะว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ เพราะการจะใส่หน้ากากอนามัยในการออกกำลังกายตลอดเวลา อาจทำให้ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะส่งผลลบต่อสุขภาพได้

สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่ กทม.ดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา ก็จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไปครับ เช่น การปลูกไม้ยืนต้น 2 ฝั่งถนนที่สร้างใหม่ และปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับฝุ่นบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ให้มากที่สุด การพ่นละอองน้ำในอากาศ การฉีดล้างทำความสะอาดถนนและใบไม้ และการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ล้อ ราง เรือ

ประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านช่องทางต่างๆ ที่

– เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com

– เฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

– แอปพลิเคชัน AirBKK ดาวน์โหลดได้แล้วทั้งระบบ android และ ios

การใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบ New Normal สำคัญครับ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อโควิดและป้องกันฝุ่นครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo