Business

เปิดรายละเอียดกฤษฎีกาชี้ ‘ธนาคารกรุงไทย’ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ

เปิดคำวินิจฉัยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุสถานะธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ”

การวินิจฉัยล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเดือน ต.ค. 2563 หลังจากกองทุนฟื้นฟูฯขอให้วินิฉัยว่ามีฐานเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของธนาคารกรุงไทย เนื่องจากคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” มีการนิยามในกฎหมายหลายฉบับและมีความแตกต่างกัน

ก่อนหน้านี้ สำนักงานกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยแล้วในปี 2543 ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่ต่อมามีการปรับปรุงพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 และมีการใช้พรบ.วิธีงบประมาณ 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยม “รัฐวิสาหกิจ”

ตามมาตรา 4 จาก “องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ” เป็น “องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ”

กองทุนฟื้นฟู ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

  1. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้นมากกว่า 50% มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
  2. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 หรือไม่ เนื่องจากสำนักงานป.ป.ช. แจ้งว่ากรรมการกองทุน ไม่ถือเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
  3. หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯหรือธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอและกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยได้หรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็น สรุปได้ดังนี้

  1. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามคำนิยามพรบ.วิธีการงบประมาณ เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย 2561 กำหนดให้ธปท.เป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น เนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯเป็นหน่วยงานในธปท.
  2. นอกจากนี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไม่ได้เป็น “หนวยงานรัฐ” ตามพรบ.วิธีการงบประมาณ เนื่องจากไม่ได้รับเงินงบประมาณ หรือ รายจ่ายอุดหนุนจากงบประมาณ เนื่องจากได้รับเงินจากอำนาจหน้าที่ของกองทุนฯเองและได้รับการจัดสรรจากธปท.
  3. ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกองทุนถือหุ้น 55.07% 
  4. สำหรับประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น กฤษฎีกาไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าต้องปฏิบัติตามประกาศของป.ป.ช.อยู่แล้ว 
  5. ประเด็นเรื่องการมองฉันทะ หรือ มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังได้หรือไม่นั้น สามารถดำเนินการได้ให้เป็นไปตามพรบ.มหาชนจำกัด 2535 และการกำกับดูแลนั้นต้องทำผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผ๔้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo