Business

หนุนท่องเที่ยวชุมชน ใช้เกณฑ์ ‘GSTC’ มุ่งสู่ท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก

หนุนท่องเที่ยวชุมชน อพท.เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ติดท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เตรียมส่ง น่าน สุพรรณบุรี เข้าเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.มีนโยบาย หนุนท่องเที่ยวชุมชน ด้วยการมุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หนุนท่องเที่ยวชุมชน

ทั้งนี้ จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ซึ่งเป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาเป็นเกณฑ์ในการพัฒนา มีทั้งหมด 4 มิติ ดังนี้

  • มิติแรกเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และการจัดทำแผน
  • มิติที่สอง ด้านสังคมเศรษฐกิจ
  • มิติที่สาม ด้านวัฒนธรรม
  • มิติที่สี่ ด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ จะนำเอา 4 มิตินี้ ที่มีทั้งหมด 41 ข้อ 105 ตัวชี้วัด ไปทาบกับทุกพื้นที่ ที่ลงไปทำงาน แล้วก็วัดผลออกมาเป็นระดับสี 4 สีด้วยกัน คือ สีแดง คือหนักที่สุด ตามด้วยสีชมพู สีเหลือง และสีเขียว คือดีที่สุด ซึ่งจะพัฒนาทุกพื้นที่ให้ได้ระดับสีเขียว เพื่อสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยว ตามเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก

“เรื่องความยั่งยืนทั้ง 4 มิติ ควรจะจบที่คำว่า นักท่องเที่ยวกับชุมชน หรือประชาชนในพื้นที่ จะต้องมีความสุขร่วมกัน โดยที่ชุมชนต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยว ขณะที่อัตลักษณ์ วิถีชีวิต ทรัพยากรทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย จึงจะเรียกว่า ยั่งยืน”ดร.ชูวิทย์ กล่าว

วัดภูมินทร์

นอกจากนี้ จะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว ด้วยเกณฑ์ GSTC ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน ซึ่งเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางดำเนินงานที่ อพท. จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพ และมาตรฐาน ในจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานระดับสากล

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการทำงานของ อพท. เน้น Supply side คือ ทำงานอยู่กับอัตลักษณ์ของชุมชน และจิตวิญญาณเป็นหลัก โดยไม่ได้สนใจเรื่องการขายโปรแกรมท่องเที่ยวมากนัก แต่ช่วงก่อนเกิดโควิด เริ่มที่จะสนใจกระแส Demand side มากขึ้นว่า นักท่องเที่ยวต้องการอะไร ชุมชนก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับตลาด ตามความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

แต่ประเด็นคือ หลังจากนักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว ต้องมีเรื่องของความปลอดภัย และสุขอนามัยต่างๆ ที่ฝั่งของ Supply side โดยเฉพาะชุมชน จะต้องปรับตัว ทาง อพท. จึงได้นำมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ที่ทุกคนยอมรับมาใช้ นั่นก็คือ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ของ ททท.

ตุงก่าคิง น่าน

“ดังนั้น ชุมชนไหนที่ต้องการทำธุรกิจในเรื่องท่องเที่ยวหลังโควิด ควรจะต้องได้รับการรับรองเครื่องหมาย SHA เพราะเป็นการการันตีต่อนักท่องเที่ยวว่าเข้ามาเที่ยวได้ ไม่มีปัญหา เรื่อง Hygiene และเรื่อง Safety รวมถึงช่วยส่งเสริมเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นได้”ดร.ชูวิทย์ กล่าว

พร้อมกันนี้ อพท. ยังได้วางเป้าหมายระยะสั้น คือ การผลักดันให้ชุมชนได้รับเครื่องหมาย SHA มากที่สุด รวมถึงเกณฑ์ CBT Thailand ส่วนระยะกลาง จะส่งเมืองที่มีศักยภาพ ไปเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO

ทั้งนี้ ในปี 2564 จะส่ง จังหวัดน่าน ไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) ในเรื่องของผ้าทอและเครื่องเงิน รวมถึงจะส่ง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี

ส่วนในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะนำเชียงคาน จังหวัดเลย และในเวียง จังหวัดน่าน ซึ่งได้ 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100  ไปเข้าแท่นของ Green Destinations Foundation อีกครั้ง เพื่อชิงรางวัลที่มีการแบ่งระดับ มาตรฐานเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ในยุโรปและเอเชีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo