Business

ปรับใหม่! ‘รถไฟฟ้ารางเบา’ ภูเก็ต ต้นทุนสูง เล็งใช้ รถบีอาร์ที พลังงานไฟฟ้า

คมนาคม สั่ง รฟม. ปรับรูปแบบลงทุน ระบบขนส่งมวลชน ภูเก็ต หลังพบ รถไฟฟ้ารางเบา ต้นทุนสูง หวั่นไม่คุ้มค่าการลงทุน ศึกษา บีอาร์ที ใช้พลังงานไฟฟ้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบาย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษาปรับปรุงรูปแบบ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง จากเดิมที่จะลงทุน รถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่การลงทุนต้องดูในเรื่องของความคุ้มค่า และผลตอบแทนด้วย

รถไฟฟ้าภูเก็ต

ด้าน นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รายงานว่า มีเทคโนโลยีอื่นที่สามารถดำเนินการแทนรถแทรมป์ที่เป็นล้อเหล็กได้ เช่น ปรับเป็นรถล้อยาง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำกว่า คือระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) โดยใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เป้าหมายของการแก้ปัญหาจราจรที่จังหวัดภูเก็ต คือ สร้างระบบขนส่งมวลชนที่ขนคนและทำให้เดินทางเร็วขึ้น ซึ่งรถ BRT เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า การก่อสร้างทำได้ง่ายกว่า โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ปรับปรุงผิวทางและแบ่งกั้นช่องทางให้ชัดเจน และในอนาคตหากมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น สามารถพ่วงต่อรถโดยสารเพิ่มได้

“ยังมีเวลาในการปรับแก้ไข โดยตามแผนจะมีการประมูลและก่อสร้างในปี 2564 ส่วน ทีโออาร์ จะไม่มีการปิดกั้นการนำเสนอของเอกชน โดยสุดท้ายจะตัดสินกันที่เทคนิคและความคุ้มค่าการลงทุน”นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. มูลค่า 35,201 ล้านบาท คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติผลการศึกษาเมื่อ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 โดยอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคม

จากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) โดยตามแผนงาน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเดือนตุลาคม 2564 และคาดว่าจะเปิดประมูล ในช่วงต้นปี 2565 พร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2569

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo