Business

‘โควิด-19’ กระทบคนไทย ไม่มั่นใจ ‘เศรษฐกิจ-งาน’ ต้องการเงินช่วยเหลือ

โควิด-19 กระทบคนไทย อิปซอสส์เผยผลสำรวจ พบเวียดนาม ฟื้นตัวเร็ว ขณะที่ขาวไทย รู้สึกไม่มั่นคงเรื่องงาน ภาวะเศรษฐกิจ และต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

อิปซอสส์ บริษัทระดับโลกด้านวิจัยการตลาด เปิดเผยผลสำรวจ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จากประชาชน 6 ประเทศในอาเซียน พบว่า โควิด-19 กระทบคนไทย โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงด้านการงาน และภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ภาพรวมประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังคงมีความกังวลต่อการติดเชื้อไม่เสื่อมคลาย

โควิด-19 กระทบคนไทย

จากผลสำรวจพบว่า ประเทศที่ประชาชนมีความกังวลต่อการติดเชื้อน้อยที่สุด คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย ประเทศไทย ซึ่งในไทยนั้นมีประชาชนเพียง 30% ที่ยังมีความกังวลต่อการติดเชื้อในระดับสูง ในขณะที่ 61% ของประชากรมาเลเซีย และ 73% ของฟิลิปปินส์ หรือเกินครึ่งของประชากรทั้ง 2 ประเทศ ยังมีความกังวลและระแวดระวังต่อการติดเชื้อในระดับสูง

การปรับตัวและมุมมองต่อสถานการณ์โควิด-19

ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือราว 81% เชื่อว่าต้องรอจนถึงปี 2564 ก่อนที่วัคซีนจะสามารถผลิต และถูกแจกจ่ายถึงคนในวงกว้าง ระยะเวลาอันยาวนานนี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องปรับตัว โดยมีประชากรถึง 37% ในภูมิภาค ที่ได้ปรับตัว และมีความคุ้นชินต่อการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ประชากรกึ่งหนึ่ง หรือราว 16% เริ่มเห็นสัญญาณว่า มาตรการล็อกดาวน์ และรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ จะค่อย ๆ ถูกทยอยผ่อนคลายหรือยกเลิกในเร็ววัน

หากดูภาพรวมของทั้งภูมิภาคแล้ว 1 ใน 2 ของประชาชน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้สึกค่อนข้างปลอดภัย ที่จะไปรับประทานอาหาร ที่ร้านอาหารนอกบ้าน ไปเยี่ยมบ้านเพื่อน หรือ ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งระดับความเชื่อมั่นนี้ แตกต่างไปในแต่ละประเทศ

ในขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ประชาชน ยังมีความกังวลในการใช้ขนส่งสาธารณะ และฟิลิปปินส์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าที่จะไปบ้านของเพื่อน หรือครอบครัว

ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนค่อนข้างรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศแล้ว ก็นับว่ายังเป็นกิจกรรมหนึ่งที่คนไทยค่อนข้างกังวล โดยระบุว่า อย่างเร็วที่สุดที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ คือ เดือนมีนาคม 2564

ถึงแม้ประชาชนในภูมิภาค มีความพยายามในการปรับตัว แต่ต้องยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก ต้องติดอยู่ที่บ้านเป็นเวลายาวนาน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

Stocks ๒๐๑๑๐๕ 1

การถูกจำกัดความเคลื่อนไหวนี้ได้ ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉลี่ย 50% ของประชาชนในภูมิภาคมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวน้อยลง หรือกระทั่งไม่มีเลย

สำหรับประเทศที่พบสัดส่วนประชากรเคลื่อนไหวน้อยที่สุด คือ ประเทศมาเลเซีย หรือกว่า 56% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่เวียดนามพบเพียง 43% เท่านั้น

หากดูผลกระทบทางด้านจิตใจแล้ว 54% ของประชาชนในภูมิภาคระบุว่า รู้สึก “ดาวน์” เกือบหรือตลอดเวลา ในขณะที่สัดส่วนของประชาชนไทยที่รู้สึก “ดาวน์” ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคคือ 56% ของประชากรทั้งหมด แต่ตัวเลขนี้ กลับพุ่งสูงขึ้นในฟิลิปปินส์ 62% และน้อยที่สุดในมาเลเซีย 44%

ผลกระทบต่อรายได้และมุมมองต่ออนาคต

หากเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้ พบว่าประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายได้ครัวเรือนที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่โควิดระบาดอย่างรุนแรง โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่เห็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย พบว่า สัดส่วนของประชากรไทย ที่รายได้ลดลงก่อนช่วงโควิด ลดลงจาก 84% ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ 77% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม 77% นี้ ยังถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หากมองไปในอนาคต 6 เดือนต่อจากนี้ ในขณะที่ 46% ของประชาชนในภูมิภาคคาดหวังว่า เศรษฐกิจท้องถิ่นจะดีขึ้น 31% ของประชากรกลับมองว่า เศรษฐกิจจะแย่ลงกว่านี้

จาก 6 ประเทศที่ได้ทำการสำรวจพบว่า 75% ของประชาชนอินโดนีเซีย เชื่อว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทำให้อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ประชาชนมีความเชื่อมั่น และมองสถานการณ์ในแง่ดีที่สุด

ในขณะที่ประเทศไทย สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างดี ทำให้มีจำนวนเคสติดเชื้อน้อยเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค

ตกงานหนี้ ๒๐๑๑๐๕ 0

ในมุมของเศรษฐกิจแล้ว กลับพบว่ามีเพียง 34% ของประชากรไทยเท่านั้น ที่คิดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นโดย 1 ใน 3 ของประชากรไทย ต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาล และยังต้องการให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการปัจจุบัน

หากเทียบกับ 3 เดือนที่แล้ว 44% ของประชาชนชาวไทย มีความมั่นใจต่อความมั่นคง และเสถียรภาพในงาน ลดลงทั้งสำหรับงานของตัวเอง และงานของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 49% ทำให้นอกจากประเทศเวียดนามแล้ว ไทยเป็นประเทศที่ประชากรมีความมั่นใจ ต่อความมั่นคงของงานต่ำที่สุดใน 6 ประเทศที่มีการสำรวจ

ผลกระทบต่อรายได้ และความเชื่อมั่นที่ต่ำ ส่งผลให้ 30% ของประชากรไทยระบุว่า ความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐบาลอย่างมากในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ คือ ความช่วยเหลือที่อยู่ในรูปของเงินสด (cash assistance) ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ ที่มากกว่าเวียดนามที่มีประชากรเพียง 5% หรือ ฟิลิปปินส์ที่ 14% ที่เรียกร้องความช่วยเหลือในรูปแบบเดียวกันนี้

โดยรวม 89% ของประชาชนในภูมิภาค ยังค่อนข้างมีความกังวล ต่อการกลับมา ของสถานการณ์แพร่ระบาด เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายลง มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อรายได้ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบต่อธุรกิจ

หากเทียบกับช่วงที่มีการเริ่มแพร่ระบาดของไวรัส รายได้ครัวเรือนของประชาชน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนในภูมิภาคกว่า 62% ยังคงระมัดระวังกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะกับรายจ่ายก้อนใหญ่ เช่น บ้าน และ รถยนต์

ที่น่าแปลกใจ คือ ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมของไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 62% มีเพียงครึ่งหนึ่งหรือราว 52% ของผู้บริโภคชาวไทยเท่านั้น ที่ระมัดระวังกับการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่เพิ่มมากขึ้น จาก 6 ประเทศที่สำรวจ มีเพียงประเทศเวียดนามเท่านั้น ที่มีสัดส่วนพอ ๆ กับประเทศไทย ในขณะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ต่างมีสัดส่วนอยู่ราว 70%

ขณะที่หลายธุรกิจ ได้รับผลกระทบในแง่ลบจากการแพร่ระบาด 43% ของประชากรในภูมิภาค มีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลนเพิ่มขึ้น 42% ของประชากรในภูมิภาค มีการใช้จ่ายในรูปแบบ cashless เพิ่มขึ้น และ 29% มีการสตรีมมิ่ง ดูคอนเทนต์ออนไลน์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศที่มีการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ออนไลน์เพิ่มมากขึ้นที่สุด คือฟิลิปปินส์ การเติบโตของตัวเลขเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ และอีคอมเมิรซ์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ จากการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo