The Bangkok Insight

เช็คเลย! ‘ใบสั่ง-ค่าปรับจราจร’ ของใหม่ บังคับใช้แล้ว ไม่เห็นด้วยแย้งได้

 

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เริ่มใช้ ใบสั่ง ค่าปรับจราจร รูปแบบใหม่ ที่สามารถจ่ายค่าปรับผ่านธนาคาร และสถานีตำรวจ

ใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้ผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ

แบบที่ 1 นี้ จะมีชุดละ 4 แผ่น มีสีและวัตถุประสงค์สำหรับการใช้งาน

  • แผ่นที่ 1 เป็นสีขาว ใช้สำหรับให้ผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ
  • แผ่นที่ 2 เป็นสีเหลือง ใช้สำหรับส่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เปรียบเทียบปรับคดีจราจร เพื่อบันทึกข้อมูลใบสั่งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของระบบสารสนเทศกลางที่เชื่อมโยงข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • แผ่นที่ 3 เป็นสีชมพู ใช้สำหรับมอบให้พนักงานสอบสวน
  • แผ่นที่ 4 เป็นสีฟ้า ใช้สำหรับเป็นสำเนาคู่ฉบับเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับผู้ออกใบสั่ง

ใบสั่ง

ใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจรสำหรับส่งทางไปรษณีย์

แบบที่ 2 มีชุดละ 2 แผ่น

  • แผ่นที่ 1 ใช้สำหรับส่งไปรษณีย์ให้ผู้ขับขี่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองรถ
  • แผ่นที่ 2 ใช้สำหรับเป็นสำเนาคู่ฉบับเก็บไว้เป็นหลักฐาน สำหรับผู้ออกใบสั่ง

ผู้กระทำผิด สามารถชำระ ค่าปรับ ผ่านทางธนาคารกรุงไทย ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือผ่านแอปพลิเคชัน KTB net bank หลังถูกออกใบสั่ง 2 วันทำการ แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเลยเวลาชำระ ค่าปรับ เพราะใบสั่งมีอายุ 7 วัน หรือหากผู้กระทำผิดต้องการจ่ายเงินค่าปรับที่สถานีตำรวจท้องที่ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที

หากประชาชนเห็นว่าการแจ้งข้อหาจราจร หรือการออกใบสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถปฏิเสธข้อหาได้ ซึ่งตำรวจจะบันทึกข้อมูลการปฏิเสธด้านหลังใบสั่ง โดยมีเหตุผล 3 ข้อ คือ

  • ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา
  • ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่ในขณะที่เกิดเหตุ
  • รถยนต์คันที่เกิดเหตุมิใช่รถยนต์ของตัวเอง

ทั้งนี้ ผู้ได้รับใบสั่ง ต้องนำใบสั่งและพยานหลักฐานไปแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออกใบสั่ง หรือแจ้งต่อพนักงานสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบสั่ง ซึ่งหากผู้ได้รับใบสั่งไม่ได้กระทำผิดจริง จะดำเนินการยกเลิกให้

ใบสั่ง

ก่อนหน้านี้  ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลง การกำหนดจำนวน ค่าปรับ ตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 โดยมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา

ประกาศดังกล่าวจะมีการกำหนดลักษณะความผิดในออก ค่าปรับ ทั้งสิ้น 17 ลักษณะ 155 ฐานความผิด โดยจะมีการปรับขั้นต่ำ 200 บาทจนถึงสูงสุด 1,000 บาท

อัตรา ค่าปรับ จราจรปี 2563 ที่น่าสนใจ

  • ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย มิให้ใช้บังคับแก่ภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช ผู้ นับถือลัทธิศาสนาที่ใช้ผ้าโพกศรีษะตามประเพณีนิยม

อัตราโทษ : ปรับไม่เกิน 500 บาท ลดลงเหลือ 400

  • โดยสารรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย

อัตราโทษ : ปรับไม่เกิน 500 บาท ลดลงเหลือ 400

  • นำรถยนต์ที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่นควันดำ ละอองเคมี เกินเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดมาใช้ในทาง เดินรถ

อัตราโทษ : ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

  • ขับรถไม่ปฏิบัติตามสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้

อัตราโทษ : ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ลดลงเหลือ 500

  • ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง

อัตราโทษ : ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ลดลงเหลือ 500

  • ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถเข็นสำหรับทารก คนป่วย หรือคนพิการ

อัตราโทษ : ปรับตั้งแต่ 400- 1,000 บาท ลดลงเหลือ 500

  • ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด

อัตราโทษ : ปรับตั้งแต่ 200 – 500 บาท เพิ่มเป็น 500 บาทราคาเดียว

  • ใช้สัญญาณไฟวับวาบผิดเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

อัตราโทษ : ปรับไม่เกิน 500 บาท

  • ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น

อัตราโทษ : จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo