Economics

‘โฆษกรัฐบาล’ ยันสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทยไม่กระทบส่งออก!

ตัดสิทธิ GSP : “โฆษกรัฐบาล” แจงกรณี “สหรัฐ” ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้า ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า กรณีที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ไทย – สหรัฐ มีมูลค่าการค้ารวม 48,630.85 ล้านดอลลาร์

ตัดสิทธิ GSP

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบไทยเตรียมความพร้อมและมาตรการรองรับไว้แล้ว เช่น กระทรวงพาณิชย์เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยด้วยการวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ หรือ Online Business Matching ส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐโดยตรง รวมทั้งร่วมมือกับผู้ประกอบเข้าถึงตลาดใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดหลักที่เติบโตอย่างอิ่มตัวแล้ว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ไทยยังสามารถส่งสินค้าออกไปขายในตลาดสหรัฐได้ปกติ เพียงแต่ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ซึ่งสินค้าที่ถูก ตัดสิทธิ GSP จำนวน 231 รายการนั้น ไทยใช้สิทธิจริงในปี 2562 เพียง 147 รายการ มีการประเมินภาษีที่ไทยต้องเสียอยู่ที่ 600 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่ถูก ตัดสิทธิ GSP เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์บางชนิด ซึ่งเป็นสินค้าของไทยที่มีศักยภาพการส่งออกทั้งตลาดสหรัฐ ตลาดยุโรปและเอเชีย

นายอนุชา​ ยังเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เคยให้ข้อสังเกตว่า สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐนั้น เป็นการให้จากสหรัฐ เพียงฝ่ายเดียวกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดแล้ว ซึ่งวันหนึ่งอาจจะต้องหมดไป เพราะไทยสามารถเติบโตและพัฒนาสูงขึ้นจนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางตามการรายงานของธนาคารโลก

ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เน้นการเติบโตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการส่งเสริมการลงทุนใน 10 + 2 อุตสาหกรรมใหม่ อุตาหกรรมหุ่นยนต์โรโบติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์และสุขภาพ รวมไปถึงการพัฒนาการเกษตร BCG สนับสนุนการจดทะเบียนสินค้าเกษตร GI ของไทย เพื่อปรับโหมดสินค้าไทย เพิ่มมูลค่าแต่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกด้วย

ตัดสิทธิ GSP

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) สินค้าไทยเพิ่มเติม ว่า ไทยถูกตัดสิทธิการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้า 171 รายการ เนื่องจากไทยไม่นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ทำให้ไทยต้องเสียภาษี 3 – 4% หรือประมาณ 600 ล้านบาท ไม่ใช่การถูกตัดสิทธินำเข้าสินค้า และไทยยังส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้เหมือนเดิม

ทั้งนี้ ภาษีที่ไทยต้องเสีย คือ มูลค่า 600 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 20,000 ล้านบาท ตามที่ถูกกล่าวอ้าง และรัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับปัญหานี้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งการหาตลาดใหม่ หรือจะยังบุกตลาดสหรัฐ ที่ไม่เน้นเรื่องราคา แต่เน้นเรื่องคุณภาพ โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์บางชนิด ซึ่งสินค้าของไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว และไม่ส่งผลต่อเรื่องการส่งออก

ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทาง การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ที่ได้รับผลกระทบ จากการถูกสหรัฐ ตัดสิทธิ GSP หรือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร  รอบใหม่ จำนวน 231 รายการ ที่จะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการประสานกับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งทราบว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยินดี หากไทยจะหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทย และผู้นำเข้าสหรัฐ ลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ ยังได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ จากการ ตัดสิทธิ GSP เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เน้นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่

การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทย ในงานแสดงสินค้าในสหรัฐ และตลาดใหม่ และการส่งเสริมสินค้าไทย เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย ใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภค ในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่ โดยตรง

กรณีที่สหรัฐ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติมอีก 231 รายการ โดยให้สาเหตุจากการเปิดตลาดสินค้าและบริการ เนื่องจากสหรัฐเห็นว่า การเปิดตลาดเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ของไทย ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียม และสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่อง ถึงผลกระทบด้านสุขภาพ และสุขอนามัยของประชาชน

แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีสินค้าเพียง 147 รายการ จาก 231 รายการ ที่จะได้รับผลกระทบ คือ มีภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์  หรือประมาณ 600 ล้านบาท ไม่ใช่ 25,000 ล้านบาท และมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูก ทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่สหรัฐให้สิทธิแก่ทุกประเทศ (119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด) จะสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งสหรัฐยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย แต่อาจมีความล่าช้า และต่ออายุไม่ทันระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เพราะโดยปกติ ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ อาจใช้เวลาหลายเดือน และต่ออายุให้หลังจากหมดอายุแทบทุกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo