Business

เคาะกระตุ้นการลงทุน ชุดใหญ่ไฟกระพริบ! ดันไทยฐานผลิตระดับโลก

เคาะกระตุ้นการลงทุน บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการชุดใหญ่ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ การค้า การลงทุน และฐานการผลิตสำคัญของโลก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 1/2563 โดยที่ประชุมมีมติ เคาะกระตุ้นการลงทุน หลายด้าน ทั้งการเพิ่มประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม การเปิดสนับสนุนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ เป็นต้น

เคาะกระตุ้นการลงทุน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ในโลกยุคใหม่ New Normal ทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนวิธีการ คิดและปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง และบริบทของประเทศภูมิภาคต่าง ๆ เช่น เรื่องข้อตกลงทางด้านการค้าและข้อกฎหมาย รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการประเทศและศักยภาพที่ประเทศไทยมีอยู่เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ภายใต้สถานการณ์การค้าต่างตอบแทนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อม ในด้านของทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และรองรับการเป็นรัฐบาล New Normal และรัฐบาลดิจิทัลด้วย

สำหรับ มติที่ประชุม ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน โดยเปิดประเภทกิจการให้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่

1. กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กิจการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร รองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 โดยอนุมัติเปิด 2 ประเภทกิจการใหม่ ได้แก่

(1) กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี

(2) กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี

2. กิจการวิจัยทางคลินิก เพื่อส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการแพทย์ของประเทศไทย และสนับสนุนเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ได้อย่างสมบูรณ์ อนุมัติเปิดให้ส่งเสริมกิจการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) โดยครอบคลุม 2 กิจการย่อย คือ กิจการสนับสนุนและบริหารจัดการการวิจัยทางคลินิก และศูนย์การวิจัยทางคลินิก โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงิน

นายก 1

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุน การผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) รอบใหม่ หลังจากหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561 โดยในรอบนี้ เปิดให้การส่งเสริม ยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากเดิมที่มีการส่งเสริมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า

ในส่วนของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องเสนอแผนงานรวม (Package) เช่น โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โครงการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า แผนการนำเข้าเครื่องจักรและติดตั้ง แผนการผลิตในระยะ 1 – 3 ปี แผนการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนอื่นๆ และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย (ที่มีคนไทยถือหุ้นข้างมาก) เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบการปรับปรุงขอบข่าย และสิทธิประโยชน์ ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยเพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่

  • High Voltage Harness
  • Reduction Gear
  • Battery Cooling System
  • Regenerative Braking System

พร้อมกันนี้ ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้น สำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยให้รับสิทธิประโยชน์ ในการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบ และวัสดุจำเป็น ที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค

นับแต่ปี 2560 – 2562 มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมฯ รวม 26 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 78,099 ล้านบาท

4NOV ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน

อีกทั้งที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ” เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง ภาคการผลิตและภาคบริการ พร้อมทั้ง ขยายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล ให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากภาคเกษตร ในการดำเนินการให้ได้รับรองมาตรฐานต่างๆ

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2563 (มกราคม-กันยายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,088 โครงการ

ด้านมูลค่าเงินลงทุนอยู่ที่ 223,720 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ที่มีมูลค่ารวม 262,470 ล้านบาท

ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 58% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริม อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีจำนวน 556 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 128,980 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 37,550 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 26,880 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 19,980 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 14,710 ล้านบาท

ส่วนคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์ ยังคงมีจำนวนโครงการและมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้น 132% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวม แต่ในบางอุตสาหกรรมมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo