Finance

สั่งตุนหุ้น ‘แบงก์ใหญ่’ ดักกำไรไตรมาส 3

setswing

ตอนนี้เริ่มเข้าสู่เทศกาลประมาณการกำไรของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยงวดไตรมาส 3 ของปี 2561 ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่รายงานผลการดำเนินงาน  และนักวิเคราะห์ได้เริ่มทยอยคาดการณ์ออกมากันบ้างแล้ว โดยมีการประเมินว่า กำไรในไตรมาส 3 ปีนี้ของกลุ่มแบงก์จะเพิ่มขึ้น 9% เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับงวดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา น่าจะอ่อนตัวลง เนื่องจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะในส่วนกำไรจากเงินลงทุนลดลง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เริ่มมีความกังวล คือ ประเด็นของหนี้ที่ตกชั้นมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจับตาอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ หากพิจารณาการเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2561 พบว่า ดัชนีภาพรวมตลาดหุ้นไทย เพิ่มขึ้นระดับ 9.64%ขณะที่ดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้น 12.73% โดยราคาหุ้นแบงก์ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกแห่ง ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มแบงก์อย่างชัดเจน สอดคล้องกับคำแนะนำของโบรกเกอร์ในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด

สำหรับหุ้นแบงก์ที่มีราคาปรับตัวขึ้นเกิน 10% ประกอบด้วย หุ้นแบงก์กสิกรไทย (KBANK) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.82 % หุ้นแบงก์เกียรตินาคิน (KKP) 10.33% หุ้นแบงกรุงไทย (KTB) 20.36% หุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) 24.89% และหุ้นทุนธนชาต (TCAP) 13.37%

นักวิเคราะห์บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า ภาพรวมกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในงวดไตรมาส 3 ปีนี้จะอ่อนตัวหากเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่จะเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากงวดเดียวกันปีก่อน ขณะที่กังวลหนี้ตกชั้นมากขึ้น โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2561 ของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่ศึกษาจะอยู่ที่ 5.18 หมื่นล้านบาท หดตัว 3% จากงวดไตรมาส 2 ปี 2561 แต่ยังเพิ่มขึ้น 9.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน  เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้มิใช่ดอกเบี้ยเป็นหลักคือ ค่าธรรมเนียมฯ ที่ลดลงและรายได้พิเศษอื่นๆ ลดลง เช่น การขยายเงินลงทุน   ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ และ NIM จะยังเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับคาดการณ์สินเชื่อสุทธิที่เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม

ทั้งจากสินเชื่อรายใหญ่ รายย่อย (เช่าซื้อรถยนต์ ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบุคคล) และ SME  ขณะที่การตั้งสำรองฯ ลดลง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPL) ทรงตัวใกล้เคียงกับ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ระดับ 3.20% อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นลูกหนี้สินเชื่อบางกลุ่มมีการตกชั้นจากกลุ่ม Special Mention หรือ มีอายุ 1-3 เดือน โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย  ซึ่งแบงก์ชาติ ได้แสดงความกังวลก่อนหน้านี้ถึงการแข่งขันกันและ นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่หย่อนยาน  สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจาก 13.3% เป็น 17.3%

 

การเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นแบงก์ไตรมาส 3 ปี 2561v3ee

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำว่า ฝ่ายวิจัยได้คาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตจากงวดเดียวกันปีก่อนจากแนวโน้มสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย ส่วน SME คาดเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ย( NIM) ขยับขึ้นเล็กน้อย  และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโตตามกำไรจากการขายเงินลงทุน

นอกจากนี้คาดกำไรไตรมาส 4 ปี 2561 จะเติบโตงวดเดียวกันของปีก่อนเด่นที่สุดในปีนี้ จากการตั้งสำรองลดลงจากปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งธนาคารขนาดใหญ่อย่าง KBANK, SCB และ KTB เร่งตั้งสำรองพิเศษ เพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ในไตรมาส 1 ปี 2560 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดกำไรจะทรงตัวหากเทียบกับครึ่งปีแรก แม้รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะดีขึ้น แต่ชดเชยด้วยค่าใช่จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้นด้วยปัจจัยฤดูกาล และค่าใช้จ่ายลงทุนไอทีเพิ่มขึ้น บางธนาคารอย่างได้แก่ แบงก์ SCB และ KTB

ฝ่ายวิจัยได้ปรับน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารจาก “เท่ากับตลาด” เป็น “มากกว่าตลาด” จากผลกระทบการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อกำไรไตรมาส 2 ปี2561 ไม่ได้มากอย่างที่คาดก่อนหน้า ได้ตัวช่วยจากกำไรเงินลงทุน และสำรองที่ลดลง  ด้านคุณภาพสินทรัพย์ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว  และคาดกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารเติบโต 6.7% ในปี 2561 และกลุ่มธนาคารซื้อขายราคาเทียบมูลค่าพื้นฐาน (PBV) เพียง 1.1 เท่า อยู่ระหว่างค่าเฉลี่ย 10 ปีในอดีต

นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุว่า สำหรับกลยุทธ์ในช่วงนี้ได้แนะนำให้นักลงทุนกลับมาสะสมหุ้นกลุ่มหุ้นที่อิงปัจจัยในประเทศ( Domestic Play) ที่คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปีนี้จะเติบโตเด่น หรือเข้าสู่ฤดูกาลไฮซีซั่น เช่น กลุ่มธนาคาร / กลุ่มค้าปลีก / กลุ่มอสังหาฯ / กลุ่มโรงพยาบาล เช่น หุ้น SCB / BBL/ KKP/ BJC/ LPN / PSH / BDMS / BCH เป็นต้น ส่วนกลุ่มอ้างอิงปัจจัยต่างประเทศ (Global Play) ที่ได้อานิสงส์เชิงบวก ทั้งราคาน้ำมันดิบ และค่าการกลั่นนั้น ฝ่ายวิจัยมองว่าเป็นโอกาสของการ “เก็งกำไรรอบสั้น” เท่านั้น

 

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight