Economics

เอาจริง! ‘คลัง’ ประสาน ‘ปอศ.’ ตรวจสอบร้านส่อโกง ‘คนละครึ่ง’

โครงการคนละครึ่ง เอาจริง! ประสาน “ปอศ.” ดำเนินคดีร้านค้าทำผิดกฎโครงการแล้ว 3 ราย เผยล่าสุดมียอดใช้จ่ายสะสม 5,815.37 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,966.46 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่ายอีก 2,848.91 ล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.00 น. นายอรรถพล อรรถวรเดช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เข้าพบ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบก.ปอศ.)

ทั้งนี้ เพื่อนำส่งข้อมูล สำหรับใช้ในการสืบสวนสอบสวน และแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อดำเนินคดีกับร้านค้า จำนวน 3 ราย ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ถนนสาทร แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ

แจกเงิน411632

รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณาตรวจสอบข้อมูล และเรื่องอุทธรณ์ สำหรับ โครงการคนละครึ่ง เพื่อดำเนินการตรวจสอบพิจารณา และวินิจฉัยการกระทำ ที่อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขโครงการ ซึ่งในขณะนี้พบว่า มีร้านค้าจำนวน 3 ร้านค้า มีเหตุอันควรสงสัยว่า เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตาม หรือ ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไขของ โครงการคนละครึ่ง ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการระงับสิทธิการใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าดังกล่าวแล้ว

กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งหากตรวจสอบพบการใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขโครงการ จะมีการระงับการใช้แอปพลิเคชัน และระงับการจ่ายเงินร้านค้าทันที

ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนและร้านค้า โปรดอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนตามโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ที่เป็นการดำเนินการผิดเงื่อนไข โดยไม่มีการใช้จ่าย ซื้อสินค้าจริงอย่างเด็ดขาด เพราะอาจตกเป็นเหยื่อ ในการสนับสนุน ให้เกิดการกระทำความผิด ซึ่งจะมีโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปด้วย

โครงการคนละครึ่ง

รองโฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า โครงการคนละครึ่ง มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน และกระจายรายได้ให้กับร้านค้ารายย่อย โดยเฉพาะหาบเร่แผงลอย ให้มีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้โครงการได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. มียอดใช้จ่ายสะสม 5,815.37 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 2,966.46 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่ายอีก 2,848.91 ล้านบาท

จึงขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ อย่าให้มีการดำเนินการไปในทางมิชอบ เพื่อมิให้ทำลายบรรยากาศของการดำเนินโครงการคนละครึ่ง แจ้งเบาะแสการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการ สามารถส่งข้อมูลมาที่ Email : [email protected] หรือส่งไปรษณีย์มาที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (โครงการคนละครึ่ง)

โครงการคนละครึ่ง

นายพรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนก่อนวันที่ 23 ตุลาคม 2563 และได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้ว ขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย ซึ่งขั้นตอนการยืนยันตัวตนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยง่าย (ดังแผนภาพประกอบ) และจะต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ เมื่อท่านเติมเงินจำนวนเท่าใดก็ได้ตามต้องการเข้าไปในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก็จะสามารถใช้สิทธิซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการร้านค้าที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ทันที ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ ท่านจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อีก

โครงการคนละครึ่ง

ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้มีการลงพื้นที่สำรวจ การดำเนินโครงการคนละครึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต พบว่า มีประชาชนจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถยืนยันตัวตนเข้าร่วมโครงการได้สำเร็จ หรือ มีการใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไม่ได้ เนื่องจากจำรหัสเข้าใช้งานไม่ได้ หรือ สแกนหน้าไม่สำเร็จ จึงทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว มารอเข้าคิวยืนยันตัวตนที่สาขาเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ระบบของธนาคารได้ตรวจสอบพบว่า มีการรอคิวจำนวนมากของประชาชนในบางพื้นที่ เช่น สาขาในจังหวัดขอนแก่น ชัยนาท นครราชสีมา อีกด้วย ดังนั้น ธนาคารกรุงไทย จึงได้เร่งดำเนินการเพิ่มเครื่องยืนยันตัวตนกว่า 1,000 เครื่องใน 200 สาขาทั่วประเทศ

โดยเฉพาะสาขาที่ระบบตรวจพบว่า มีการรอคิวของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเพิ่มจำนวนพนักงานอีกร้อยละ 20 ในแต่ละสาขา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้ทันท่วงทีป้องกันการถูกตัดสิทธิ ตลอดจนแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo