COVID-19

ครม.ไฟเขียว ‘ตั้ง APHEED-ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน’

ครม.อนุมัติกรอบการเจรจา และข้อเสนอของไทย เพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียน ด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียน มุ่งลดผลกระทบ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อกลุ่มคนยากจน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติกรอบการเจรจา และข้อเสนอของไทย เพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย (ASEAN Center for Public Health Emergencies and Emerging Diseases -APHEED) เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ให้กับประชาคมอาเซียน โดยเน้นขีดความสามารถ พร้อมรับ ตรวจจับ และตอบโต้

โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ส่งชุดคำตอบสำหรับการแสดงความจำนงค์ที่ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเป็นเจ้าภาพจัดตั้ง APHEED ไปที่สำนักเลขาธิการอาเซียนแผนกสุขภาพ โดยระบุคำตอบถึงความพร้อมในการเตรียมสถานที่ตั้งของ APHEED โดยสามารถจัดตั้งได้ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

IMG 20201012143415000000
สำหรับงบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของ APHEED จะอยู่ที่ปีละประมาณ 12-15 ล้านดอลลาร์ และหากให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จะใช้งบประมาณ 28-33 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ใน 5 ปีแรกของการจัดตั้ง APHEED จะต้องมีการตั้งงบลงทุนประมาณ 14-17 ล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับการก่อสร้างตึก ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น โดยควรจะมีบุคลากรประมาณ 70-80 คนในระยะ 3 ปีแรก และภาพรวมควรจะมีบุคลากรทำงานใน APHEED ประมาณ 130-170 คน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า งบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของ APHEED ซึ่งในปีแรกคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ ส่วนนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และจากกลไกการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน แต่ก็ยังไม่ทราบจำนวนสนับสนุนที่แน่ชัด ดังนั้น ส่วนที่เหลือจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ

กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดทำข้อเสนอกรอบวงเงิน เพื่อการเจรจาต่อรองไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณพื้นฐาน ในการดำเนินงานของ APHEED ต่อปี และต้องไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ทั้งนี้ หากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้ งAPHEED จะได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพิจารณากำหนดกรอบการดำเนินการของ APHEED นำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านวิชาการ และการดำเนินการป้องกันโรคร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือจากประเทศอื่น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของไทย ที่ให้การสนับสนุนในการคัดกรอ งและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การตรวจรักษา และการควบคุมโรคระบาดในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจร่วมกันของอาเซียนและจากประเทศในภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมทั้งยังช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมครม.  ยังรับทราบผลการประชุม และให้ความเห็นชอบ ต่อร่างถ้อยแถลงร่วม การประชุมสมัยพิเศษ ระดับรัฐมนตรีอาเซียน ด้านการพัฒนาชนบท และขจัดความยากจน ภายใต้แนวคิด “การลดความยากจน และเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง : การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบ ของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)”

การประชุมสมัยพิเศษ ระดับรัฐมนตรีอาเซียนครั้งนี้ จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีเมียนมาเป็นประธานการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19

shutterstock 543236239

ทุกประเทศจะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มคนยากจน เพื่อให้อาเซียนสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

ในการประชุมดังกล่าว เลขาธิการอาเซียนได้รายงานว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สัดส่วนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15 เมื่อปี 2558 เป็นร้อยละ 47 เนื่องจากผลกระทบส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม รวมทั้ง แรงงานในเมืองที่ตกงาน จากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการ ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา

ดังนั้น ประเด็นเรื่องความคุ้มครองทางสังคม และการรักษาความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ชุมชนในชนบท สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้

สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ  เป็นการแสดง ข้อกังวลเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคน เข้าสู่สภาวะยากจนอย่างรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อความหิวโหยในระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ต้องหยุดชะงักไป

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

อย่างไรก็ตาม เพื่อขจัดความยากจนจากผลกระทบของโควิด-19 ดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังนี้คือ ปกป้องผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการกระจายรายได้ และส่งเสริมการดำรงชีวิตในชนบทและสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น และระบบการผลิตอาหารให้สามารถขับเคลื่อนไปได้

สร้างความเชื่อมั่นมีหลักประกันว่าทุกประเทศมีกรอบแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับคนยากจน และให้ความสำคัญกับข้อจำกัดที่สตรีและเยาวชนในชนบทต้องเผชิญ ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เสริมสร้างกรอบนโยบายเชิงบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงชนบทกับเมืองในทุกระดับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo