Lifestyle

หญิงตั้งครรภ์ อ่านที่นี่! แนะนำอาหาร ที่เหมาะ อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง

หญิงตั้งครรภ์ ต้องอ่าน กรมอนามัย แนะ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหมักดอง เน้นกินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม ควบคู่กับการดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน เพื่อลูกในครรภ์

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอนามัย เปิดเผยว่า หญิงตั้งครรภ์ ควรทานอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าวแป้ง กลุ่มเนื้อสัตว์ กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ และกลุ่มนม เพื่อให้ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ นอกจากนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยง อาหารรสจัด หมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่

หญิงตั้งครรภ์

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาส ต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป ดังนี้

ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 0-3 เดือน) เป็นช่วงที่ทารก มีการสร้างอวัยวะ ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่ อาจเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้อง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง

พลังงานสารอาหาร ที่ร่างกายควรได้รับในระยะนี้ ใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงตั้งครรภ์ ไตรมาสแรก อาการที่แสดงออกคือ การแพ้ท้อง หากแพ้ท้องมาก ทำให้กินอาหารได้น้อย ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อย ๆ กินให้บ่อยขึ้น

สำหรับช่วงไตรมาสนี้ แนะนำอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด เน้นกลุ่มโปรตีน จากเนื้อสัตว์ และเกลือแร่ เช่น ผัดผักใส่หมูสับ ต้มจืดตำลึง เป็นต้น

ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) คุณแม่จะเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น ในขณะที่ระยะนี้ ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอัตราสูงสุด ในเดือนสุดท้ายก่อนคลอด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย 1
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

ในช่วงนี้ น้ำหนักของทารก จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องใช้พลังงาน และสารอาหาร สำหรับสร้างระบบไหลเวียน ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและอวัยวะต่าง ๆ ของทารก และสำหรับร่างกายของมารดาเองด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนปกติ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะตั้งครรภ์ ควรควบคุมน้ำหนักตัว ให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์คือ ½ กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งในช่วงนี้ ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น ประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน และ ต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมทั้งต้องการธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง โฟเลท ในการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ปากแหว่งเพดานโหว่ของทารก

แหล่งอาหารที่มี เหล็กและโฟเลต ได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ยังต้องการ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ในการสร้างกระดูกและฟัน แหล่งอาหารได้จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม

ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงควรกินอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือ ปรุงประกอบอาหาร ด้วยเครื่องปรุงที่มีการเสริมไอโอดีน ซึ่งไอโอดีน ช่วยในการพัฒนาระบบประสาท และการเจริญเติบโต ของเชลล์สมองของทารกในครรภ์ เมนูที่แนะนำ เช่น ไข่ตุ๋น ต้มเลือดหมูใส่ผัก ปลานึ่งกับผักลวก เป็นต้น

ช่วงไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ ยังคงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารก มีการขยายขนาดร่างกาย เพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน จึงควรกินอาหาร ที่มีแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง เน้นอาหารที่มีกรดไขมัน โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาจะระเม็ด

ขณะที่ เมนูแนะนำ ได้แก่ ยำปลาทู แกงเลียง ยำหัวปลี ฟักทองผัดไข่ เป็นต้น สำหรับในช่วงนี้ ควรติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก เนื่องจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไป พบแพทย์เพื่อรับการ ตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว เลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ เพราะพลังงาน และสารอาหาร ที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญ ต่อลูกน้อยในครรภ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo