Economics

‘พาณิชย์’ เล็งหารือสหรัฐ แก้ปัญหา ‘ตัด GSP’ เดินหน้าช่วยผู้ส่งออกหาตลาดเพิ่ม

“พาณิชย์” เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการรับมือผลกระทบ จากการถูก ตัด GSP เตรียมประสานหารือสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หาทางออกร่วมกัน  พร้อมช่วยขยายตลาด ทั้งในสหรัฐ และตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มยอดส่งออก 

นายกีรติ รัชโน อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทาง การช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ที่ได้รับผลกระทบ จากการถูกสหรัฐ ตัด GSP หรือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร  รอบใหม่ จำนวน 231 รายการ ที่จะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ว่า กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการประสานกับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งทราบว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยินดี หากไทยจะหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทย และผู้นำเข้าสหรัฐ ลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

ตัด GSP

กระทรวงพาณิชย์ ยังได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบ จากการ ตัด GSP เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เน้นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่

การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทย ในงานแสดงสินค้าในสหรัฐ และตลาดใหม่ และการส่งเสริมสินค้าไทย เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย ใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภค ในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่ โดยตรง

กรณีที่สหรัฐ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติมอีก 231 รายการ โดยให้สาเหตุจากการเปิดตลาดสินค้าและบริการ เนื่องจากสหรัฐเห็นว่า การเปิดตลาดเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ของไทย ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียม และสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่อง ถึงผลกระทบด้านสุขภาพ และสุขอนามัยของประชาชน

แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีสินค้าเพียง 147 รายการ จาก 231 รายการ ที่จะได้รับผลกระทบ คือ มีภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์  หรือประมาณ 600 ล้านบาท ไม่ใช่ 25,000 ล้านบาท และมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูก ทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่สหรัฐให้สิทธิแก่ทุกประเทศ (119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด) จะสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ซึ่งสหรัฐยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย แต่อาจมีความล่าช้า และต่ออายุไม่ทันระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เพราะโดยปกติ ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ อาจใช้เวลาหลายเดือน และต่ออายุให้หลังจากหมดอายุแทบทุกครั้ง

5f9d275ef18ff 1
กีรติ รัชโน

ที่ผ่านมา หากสหรัฐต่ออายุโครงการไม่ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ สหรัฐจะให้สิทธิย้อนหลัง เพื่อให้การให้สิทธิ GSP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีการต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 สหรัฐได้ประกาศต่ออายุในเดือนมีนาคม 2561 โดยให้มีผลใช้บังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

ปัจจุบันการให้สิทธิฯ GSP ของสหรัฐเป็นการให้ฝ่ายเดียว ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐ มีการทบทวนคุณสมบัติของประเทศ ที่ได้รับสิทธิอย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 ได้ประกาศระงับสิทธิ GSP ทั้งประเทศกับอินเดีย และตุรกี ด้วยเหตุผลด้านการเปิดตลาดสินค้าและบริการ และด้านเกณฑ์ระดับการพัฒนาประเทศตามลำดับ

ทั้งยังระงับสิทธิบางรายการสินค้ากับยูเครน ด้วยเหตุผลด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยยังมีหลายประเทศ ที่สหรัฐอยู่ในระหว่างการพิจารณาระงับสิทธิ GSP เพิ่มเติม ด้วยเหตุผลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ และในประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น เอริเทรีย ซิมบับเว คาซัคสถาน และอาเซอร์ไบจาน เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo