Economics

เลือกตั้งสหรัฐระอุ! ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาด ‘เฟด’ ยังคงดอกเบี้ย

เลือกตั้งสหรัฐ ระอุ! “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาด “เฟด” ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.0 – 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 – 5 พฤศจิกายน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0 – 0.25% สำหรับการ ประชุมนโยบายการเงิน ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4-5 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

เศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นลดลง โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยอดค้าปลีก และตัวเลขการจ้างงาน ทยอยปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ในไตรมาส 3/2563 น่าจะฟิ้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/2563 อย่างมีนัยสำคัญหลังจากมีการทยอยปลดล็อกดาวน์

เลือกตั้งสหรัฐ

ทั้งนี้ IMF ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐ ปี 2563 หดตัวลดลงที่ -4.3% จากคาดการณ์เดิมที่ -8.0% ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ น่าจะใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี มาตรการทางการเงินและการคลังต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปแล้วน่าจะเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ให้อยู่ในกรอบที่ IMF คาดการณ์ไว้

เฟด มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) แทนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คงที่ ซึ่งเฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อที่น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ

ดังนั้น เฟด น่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% และไม่น่ามีการออกนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม สหรัฐ จะมีการ เลือกตั้งสหรัฐ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ก่อนการประชุมนโยบายการเงินเพียง 1 วัน ดังนั้น เฟด มีแนวโน้มที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในการประชุมนโยบายเงินครั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ ส่อเค้าที่จะนำมาซึ่งความวุ่นวายและการรับรองผลการเลือกตั้งอาจมีความยืดเยื้อ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบ ต่อทิศทางของนโยบายการคลัง และ การเงิน ในระยะข้างหน้า ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ยังเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน มีนโยบายที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ทรัมป์ มีนโยบายที่จะลดภาษีเพิ่มเติม ขณะที่ ไบเดน มีนโยบายที่จะขึ้นภาษี เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหาก ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง และ พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา จะส่งผลให้พรรคเดโมแครต สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้โดยง่าย

ขณะที่ แนวโน้มขาดดุลทางการคลัง เพิ่มขึ้นอย่างมาก และ เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งอาจหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อ และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐเร่งสูงขึ้น ในระยะข้างหน้า อันจะก่อให้เกิดความท้าทาย ต่อการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ของเฟด

เลือกตั้งสหรัฐ
ภาพจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เฟด จะยังไม่ลดระดับการผ่อนคลายทางการเงิน และ ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น หากเศรษฐกิจสหรัฐ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยง ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นทางการเมือง และ ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแรง และน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าในการฟื้นตัว

ขณะที่หากอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เฟดก็ยังคงมีทางเลือกในการใช้นโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) เพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม โดยเฉพาะในจังหวะเวลาช่วงต้นปีหน้า ทั้งประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐ และยุโรปเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่ระบาดหนักขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ ประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐ ที่อาจจะมีการฟ้องร้องกันจนทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้าออกไป ตลอดจนการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ

ทั้งนี้ ในกรณีเลวร้ายที่ปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ดังกล่าวเกิดขึ้นในจังหวะเวลาพร้อมๆ กันกล่าวคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เลวร้ายลงไปกว่าปัจจุบัน ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐล่าสุดพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกิน 8 หมื่นรายต่อวัน

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่รอบใหม่ ยังไม่สามารถผลักดันออกมาได้ และหากเกิดกรณีที่การรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้าออกไปหลังจากวันที่ 20 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี จนทำให้สหรัฐ เผชิญสูญญากาศทางการเมือง หลังการเลือกตั้ง และไม่สามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นได้ในช่วงต้นปีหน้า จะส่งผลให้แรงกดดันกลับมาอยู่ที่เฟดในการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo