Economics

‘รฟม.’ ชงกม.ลุยรถไฟฟ้ารางเบาโคราช 1.3 หมื่นล้าน

S 68026532

“รฟม.” ชงกฎหมายขออำนาจลุยรถไฟฟ้ารางเบาโคราช 1.3 หมื่นล้านบาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างจัดเตรียม “ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา” เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนธันวาคมนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้จะมอบอำนาจให้ รฟม. สามารถลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) ใน จ.นครราชสีมาได้

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.นครราชสีมา คือ รฟม. เตรียมออกประกาศจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษาด้วยวงเงิน 100 ล้านบาทในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียว

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาคัดเลือกที่ปรึกษา 3 เดือนและใช้เวลาศึกษาอีกราว 10 เดือน โดยรถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียว เส้นทางตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ มีระยะทาง 11.17 กิโลเมตรและใช้วงเงินลงทุน 13,000 ล้านบาท ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้มีความเร่งด่วนระดับเดียวกับรถไฟฟ้าใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประมาณปี 2569-2570

S 68026533

สำหรับกรณีที่เทศบาลนครราชสีมาต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นทางยกระดับ โดยใช้รางร่วมกับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้น นายภคพงศ์กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เพราะการรถไฟฯ ออกแบบทางไว้สำหรับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ซึ่งเป็นรถไฟเชื่อมระหว่างจังหวัดกับจังหวัด แตกต่างกับรถไฟฟ้ารางเบาซึ่งเป็นรถไฟภายในตัวเมืองนครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า รฟม. จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมา โครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้า ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน วงเงิน 95 ล้านบาทอีกครั้งในเดือนตุลาคม ด้วยวิธีการคัดเลือก เนื่องจากการประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอและถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่า การจัดซื้อจัดจ้างรอบใหม่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างอีก 1 ปี หรือแล้วเสร็จไม่เกินปี 2562

สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ จะประกอบด้วยท่าเรือพระนั่งเกล้า ที่รองรับเรือด่วน, เรือท่องเที่ยว และเรือข้ามฟาก รวมถึงทางเดินเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและท่าเรือพระนั่งเกล้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารตามนโยบายการเดินทางแบบไร้รอย (Seamless Transportation) ของกระทรวงคมนาคม โดยหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว รฟม. จะต้องหารือกับเอกชนและผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งว่าจะบริหารท่าเรือพระนั่งเกล้าอย่างไร แต่เบื้องต้นเรือด่วนเจ้าพระยาให้ความสนใจในการเดินเรือแล้ว

Avatar photo