Politics

แค่ยื้อเวลา! โพลชี้ ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง

ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ แค่เกมยื้อเวลาของรัฐบาล สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ คนส่วนใหญ่มองว่า ยังไร้ทางออกแก้วิกฤติการเมืองไทย

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อการเปิด ประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,035 คน พบว่า ประชาชน 41.94% คิดว่า เป็นเพียงการยื้อเวลาของรัฐบาล ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ประชุมสภา ๒๐๑๑๐๑

รองลงมา 39.00% คิดว่านายกรัฐมนตรียังไม่ลาออก ตามด้วย 32.32% คิดว่าเป็นเกมทางการเมือง, 31.93% คิดว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง และอีก 28.49% คิดว่า ส.ส.และ ส.ว. ต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับในแง้ผลบวก ที่เกิดจากการอภิปรายครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 57.20% คิดว่า ทำให้ได้เห็นท่าทีของแต่ละฝ่ายชัดเจนมากขึ้น รองลงมา 43.93% คิดว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ได้อภิปราย แสดงความคิดเห็น และอีก 36.52% คิดว่า แสดงให้เห็นถึงท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหา

ในด้านของผลลบนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 53.18% คิดว่า การระชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เป็นการเสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณ รองลงมา 53.08% คิดว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่มีอะไรดีขึ้น และอีก 45.73% คิดว่าแต่ละฝ่ายมีธงของตนเอง ไม่ยอมกัน

นอกจากนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปราย ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ 54.40% คิดว่า ความขัดแย้งทางการเมือง ยังเหมือนเดิม รองลงมา 34.78% คิดว่าความขัดแย้งมากขึ้น แต่อีก 10.82% คิดว่าความขัดแย้งน้อยลง

ดุสิตโพล

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 51.69% คิดว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้ จะทำให้การเมืองไทยหลังจากนี้เหมือนเดิม รองลงมา 35.36% คิดว่าแย่ลง และมีเพียง 12.95% คิดว่าดีขึ้น

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล กล่าวว่า อุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ ท่าทีของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของบ้านเมือง การตัดสินใจเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ของนายกรัฐมนตรี เป็นก้าวแรกของการแสดงออก ให้เห็นถึงความต้องการ ในการแก้ปัญหา

ขณะที่ฝั่งประชาชนมองว่า เป็นเพียงการยื้อเวลาของรัฐบาลเท่านั้น แต่ก็ทำให้ได้เห็นความชัดเจน ของทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านมากขึ้น หากรัฐบาลยังคงมีท่าทีเช่นนี้ สถานการณ์บ้านเมือง ก็น่าจะคงมีความขัดแย้งกันต่อไป

ด้านนายรุ่งภพ คงฤทธิ์ระจัน อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง กล่าวว่า ความล้มเหลวของการประชุมครั้งนี้ มีอยู่ 3 ปัจจัยที่ทำให้เห็นว่า ระบบรัฐสภาของไทย ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ปัจจัยแรก คือ การตั้งหัวข้อในการอภิปรายของการประชุม เนื่องจาก การตั้งหัวข้อ มีเจตนาอย่างชัดเจน ที่จะทำให้เกิดการถกเถียงว่าใครเป็นฝ่ายผิด ต่อวิกฤตการเมืองในครั้งนี้

ปัจจัยที่สองคือ การคัดสรรผู้อภิปรายของฝ่ายรัฐบาล ที่คัดสรรนักการเมือง ที่มีภาพลักษณ์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม มาเป็นผู้อภิปราย
ปัจจัยที่สาม คือ ความล้มเหลวเกิดจากทัศนคติของนักการเมืองในสภา ซึ่งรวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ที่ต่างมองเห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม กล่าวได้ว่า รัฐสภาไทย เป็นองค์กรที่ไร้ประโยชน์ และมิใช่เป็นองค์กรที่พึ่งพิงของประชาชนไทย ยามเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง

ดังนั้น การแสวงหาทางออกทางการเมืองของไทย จึงเป็นหนทางที่คับแคบ และคงจะต้องมีการเผชิญหน้า เพื่อหาข้อสรุปทางการเมืองอย่างรุนแรงในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo