General

RSV คร่าชีวิตลูก 10 เดือน! พ่อแม่เตือนระวังไวรัสร้าย ช่วงปลายฝนต้นหนาว

พ่อแม่ “น้องเนเน่” โพสต์เศร้า สูญเสียลูกน้อย หลังล้มป่วย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส “RSV” ในเวลาเพียงไม่กี่วัน เตือนผู้ปกครองรายอื่นต้องระวัง โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว 

จากกรณีที่ “น้องเนเน่” หนูน้อยวัย 10 เดือน เสียชีวิตลง เพราะติดเชื้อติดเชื้อไวรัส RSV (อาร์เอสวี) ที่กำลังระบาดในเด็กอยู่ในขณะนี้นั้น

RSV Blog MainArticleImage

เฟซบุ๊ก “Apiwat Rattanathiwat”  ผู้เป็นบิดาได้โพสต์ข้อความว่า

“เมื่อเวลา 17:40 น. น้องเนเน่ได้จากไปอย่างสงบ 30/10/63 ด้วยวัยเพียง 10 เดือน 2 วัน โรคร้าย RSV ขอให้หนูไปสู่สุคตินะลูก ไปเป็นนางฟ้าตัวน้อยบนสวรรค์นะลูก”

เช่นเดียวกับ เฟซบุ๊ก “Patty Pattarawadee” ผู้เป็นมารดาของ “น้องเนเน่” ที่โพสต์ถึงลูกน้อยว่า

“#RSVโรคร้าย หลับให้สบายนะลูก ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่ส่งมาให้น้องเนเน่ น้องไม่เจ็บไม่ทรมานแล้ว น้องสู้ที่สุด อดทนที่สุด ขอให้น้องไปสู่สุคตินะคนสวยของแม่ นางฟ้าตัวน้อยของแม่ 30/10/63 เวลา 17:40 น.”

ล่าสุด พ่อแม่ของน้องเนเน่ ได้รับศพน้องมาตั้งบำเพ็ญพิธีตามศาสนาอยู่ที่บ้านเกิด ในจังหวัดชัยภูมิ แล้ว พร้อมเปิดเผยว่า อยากจะฝากย้ำเตือนผู้ปกครองว่า ต้องระวังให้มากขึ้น ไม่ควรให้เด็กออกไปถูกละออง หรือไอฝนให้มากในช่วงเปลี่ยนฤดูปลายฝนต้นหนาว

ตนเองไม่คิดว่า ลูกวัยเพียง 10 เดือน จะป่วยเสียชีวิตด้วยไวรัส RSV อย่างรวดเร็วได้ขนาดนี้ แต่เป็นเพราะในช่วงนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนรอยต่อฤดูปลายฝนต้นหนาว ซึ่งสาเหตุการป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วครั้งนี้ ก็มาจากละอองไอฝน  หลังลูกสาวโดนละอองไอฝนไม่กี่วัน ก็มีอาการป่วยพาเข้าโรงพยาบาล ก่อนเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว แบบตั้งตัวไม่ทัน

จึงอยากให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องนี้ในช่วงรอยต่อเปลี่ยนฤดูปลายฝนต้นหนาวนี้ให้มากขึ้นด้วย  ซึ่งโรคไวรัสนี้ หากเด็กเป็นแล้วอันตรายมากถึงเสียชีวิตฉับพลันรวดเร็วเหมือนในครั้งนี้ได้

RSV

กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกัน RSV

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นโรคที่มักพบได้บ่อย ในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรง ได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

จากข้อมูล ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อุบัติการณ์ของโรค อาร์เอสวี ในเด็กของปี 2563 มีอัตราป่วยเท่ากับปี 2562 ในเดือนเดียวกัน และโรคทางเดินหายใจ ที่ตรวจหาเชื้อจะพบเป็นอาร์เอสวี มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กแรกเกิด-5 ปี

ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการการป้องกัน โรคทางเดินหายใจในเด็กขณะนี้ ไม่ได้แตกต่างกับปีที่แล้วมากนัก อย่างไรก็ตาม การดูแลบุตรหลาน ให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ก็ยังมีความสำคัญมาก

โรคติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี ติดต่อได้จาก การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจ เอาเชื้อที่อยู่ในอากาศ ในรูปละอองฝอย จากการไอ จามของผู้ป่วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะแสดงอาการ หลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วย จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน

อาการโดยทั่วไป อาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ มักพบในเด็กเล็ก คือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรก จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง

ในส่วนของการรักษานั้น ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ใน ผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

RSV

สำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัส อาร์เอสวี ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ดังนี้

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะ ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ ควรสอนให้เด็ก ๆ ล้างมืออย่างถูกต้อง
  • ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ และการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น
  • ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
  • ผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้าน ในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ไปยังผู้อื่น
  • ควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม ด้วยหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย
  • ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ
  • ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และ ให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ

ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ขอให้สังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาต่อไป ส่วนในเด็กโต และผู้ใหญ่ อาการจะดีขึ้น หลังได้รับการรักษา 1-2 สัปดาห์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo