Business

สหรัฐบีบไทยเปิดตลาดเนื้อหมู ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ก่อนตัด GSP สินค้า 231 ราย

สหรัฐตัด GSP สินค้าไทย เพิ่มมีผล 30 ธ.ค.นี้ “ทรัมป์” บีบไทยเปิดตลาดเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงไม่สำเร็จ ก่อนตัด GSP สินค้า 231 ราย “พาณิชย์” รับถูกตัดสิทธิ 231 รายการ ย้ำมีสินค้า 147 รายการ ได้รับผลกระทบ 

สหรัฐตัด GSP สินค้าไทย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ  กล่าวว่าสหรัฐจะระงับสิทธิประโยชน์ทางการค้าพิเศษสำหรับสินค้าไทยบางประเภท ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี (GSP) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้ สำนักข่าวซินหัว รายงาน

“ผมพิจารณาแล้วว่าไทยไม่ได้ทำให้สหรัฐ มั่นใจว่าไทยจะจัดสรรการเข้าถึงตลาดของตนอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล” ทรัมป์เปิดเผยในหนังสือที่ยื่นต่อรัฐสภาสหรัฐ

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมองว่าการระงับสิทธิปลอดภาษีภายใต้ระบบจีเอสพี สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์บางรายการของไทยนั้นเป็นเรื่องเหมาะสม” ทรัมป์ ระบุ

ทรัมป์13 e1604157755683
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ  (USTR) เผยว่าจีเอสพี เป็นโครงการสิทธิพิเศษทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการอนุมัติสินค้าราว 3,500 รายการ จากประเทศและดินแดนที่กำหนดกว่า 100 แห่ง ให้สามารถนำส่งสินค้าเข้าสหรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษี

จากการประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย นายกีรติ รัชโน อธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่ากรมฯได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐ ได้พิจารณาตัด GSP เป็นรายประเทศ โดยได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยรวม 231 รายการ เนื่องจากสหรัฐ เห็นว่า การเปิดตลาดสินค้าไทย ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้สินค้าไทยต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยจะส่งออกไปสหรัฐไม่ได้

สหรัฐบีบไทยก่อนตัดสิทธิ GSP

ผลจากการตรวจสอบการตัดสิทธิ GSP ดังกล่าว พบว่า มีสินค้าไทยที่ใช้สิทธิจริงจำนวน 147 รายการ มีมูลค่าการนำเข้าในสหรัฐ ประมาณ 604 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติประมาณ 3-4% มูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 600 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

หมู14
“การถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้  สินค้าไทยยังส่งออกได้ปกติ แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ และผลกระทบก็ไม่ใช่ 604 ล้านดอลลาร์  หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจำนวน 147 รายการจากไทย แต่ที่กระทบจริง ก็แค่ต้องเสียภาษีเพิ่ม 19 ล้านดอลลาร์ หรือ 600 ล้านบาท  หากสินค้าไทย มีการเน้นคุณภาพ มาตรฐาน สร้างการยอมรับ เชื่อว่า แม้ภาษีจะสูงขึ้น แต่คงไม่มีผลต่อการส่งออก และผู้นำเข้าสหรัฐ ก็จะยังต้องการสินค้าไทยเหมือนเดิม”นายกีรติ กล่าว

นายกีรติ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิ GSP เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยมีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐ  และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดนเข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐ และตลาดใหม่โดยตรง

นายกีรติ รัชโน1

พาณิชย์เร่งศึกษาส่งออกลดจากโควิดหรือตัด GSP

นายกีรติ กล่าวว่ากรมฯ ยังได้มีการติดตามผลกระทบจากการที่สหรัฐตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยในช่วงปลายปี 2562 และมีผลเดือนเมษายนที่ผ่านมา จำนวน 573 รายการ  มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจริง 315 รายการ โดยพบว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดสิทธิไปสหรัฐ ลดลงประมาณ10% ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากการถูกตัด GSP หรือผลกระทบจากโควิด-19 เพราะจากการตามดูสินค้า 1 ใน 20 รายการ ที่ส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น มี 10 รายการ จาก 315 รายการ ที่ถูกตัดสิทธิส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องสุขภัณฑ์ ผ้าผืน ธงชาติ เครื่องล้างจาน ผลไม้ เช่น ลิ้นจี้ ลำไย และหัวเทียน  แสดงว่าผลจาก GSP ไม่ได้รุนแรง แต่เมื่อดูรายการที่ลดลงของ 315 รายการ พบว่า มีการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น แว่นตา ตะปู พัดลม แผงสวิชต์และควบคุมไฟฟ้า เครื่องจักรสาน น้ำผลไม้ โดยส่งออกไปยุโรป จีน ฮ่องกง และเอเชียเพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ส่งออกมีการปรับตัวหันไปพึ่งพาตลาดอื่นได้ดี

ปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP แก่ทุกประเทศประมาณ 3,500 รายการ มีเงื่อนไขการตัดสิทธิ คือ ระดับการพัฒนามีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,375 ดอลลาร์, การเปิดตลาดสินค้าและบริการ, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การคุ้มครองสิทธิแรงงาน, การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้า และการสนับสนุนสหรัฐ ในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยในส่วนของไทยมีการใช้สิทธิประมาณ1,100 รายการ ถูกตัดสิทธิไปแล้ว 315 รายการ จากกรณีสหรัฐ กล่าวหาไทยไม่คุ้มครองแรงงาน และ 147 รายการ กรณีไม่เปิดตลาดสินค้าและบริการ รวม 462 รายการ คงเหลือ 638 รายการ ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิขณะนี้

สิทธิ GSP มาได้อย่างไร?

GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี เป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ให้แก่สินค้าจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ( WTO) ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา  เป็นการให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมไปจากสิทธิดั้งเดิมที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการเป็นสมาชิก WTO

ภายใต้กรอบของ WTO จะมีการกำหนดอัตราภาษี MFN หรืออัตราภาษีสำหรับชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง  เป็นอัตราภาษีนำเข้าที่ดีที่สุดที่ประเทศสมาชิก WTO จะให้แก่สินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศสมาชิกต่างๆ  สำหรับการให้สิทธิ GSP เป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าอัตรา MFN

ปกติแล้วประเทศที่ให้สิทธิ GSP จะติดตาม รายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรในประเทศที่ได้รับสิทธิอยู่ตลอด มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการได้รับสิทธิ GSP ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่ให้สิทธิด้วย เช่น ต้องมีกฎหมายที่รัดกุม เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องต่างๆ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ในแต่ละปีสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ในกลุ่มสินค้าที่ประเทศต่างๆ เคยได้รับอาจมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปีก่อนๆ หรือถูกยกเลิกไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight