Lifestyle

‘วันอัมพาตโลก’ เตือนประชาชนป้องกันตนเองจาก ‘อัมพฤกษ์ – อัมพาต’

วันอัมพาตโลก แพทย์เตือน ประชาชนตื่นตัว ป้องกันตนเองจาก โรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี หากมีอาการต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (World Stroke Organization: WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันอัมพาตโลก (World Stroke Day) จึงรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว ในการป้องกัน โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี

brain stroke

องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World stroke organization : WSO) รายงานว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 80 ล้านคน และพิการ จากโรคหลอดเลือดสมอง จานวน 50 ล้านคน และ มีผู้ป่วยเสียชีวิต จากโรคหลอดเลือดสมอง 5.5 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย พบโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็ง และ โรคหัวใจตามลำดับ และยังพบว่า เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ของโรคทางระบบประสาท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต และความพิการ

ในปี 2561 พบอัตราป่วย ด้วยโรคหลอดเลือดสมอง เท่ากับ 506.20 ต่อประชากรแสนคน และ อัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมองเท่ากับ 47.1 ต่อประชากรแสนคน และ เป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิต จากการตาย ก่อนวัยอันสมควร เป็นอันอับ 1 ในเพศหญิงและอันดับ 2 ในเพศชาย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ 1
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ทั้งนี้ หากประชาชน รู้จักดูแลตนเอง และ หมั่นสำรวจความผิดปกติ ของร่างกายอยู่เสมอ จะสามารถป้องกัน และลดความรุนแรงของโรคดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม และภาวะน้ำหนักเกิน

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเตือนสำคัญ ที่สังเกตได้ด้วยตนเอง ตามหลัก FAST คือ

  • F = Face ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ตามัวเห็นภาพซ้อน หรือเห็นครึ่งซีก
  • A = Arm อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง อ่อนแรง
  • S=Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก
  • T= Time เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง

อาการเหล่านี้มักเกิดอย่างเฉียบพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว อาจเกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดอย่างถาวร

สิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการข้างต้น และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด จะช่วยลดการเสียชีวิต และความพิการได้ เนื่องจากเซลล์สมองขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ ถ้าได้รับการรักษาช้า อาจทำให้เกิดความพิการมากขึ้น

สำหรับแนวทาง เพื่อลดความเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมอง คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร รสเค็มจัดไขมันสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และ น้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบหรี่ รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง

ดังนั้น ประชาชน ควรตระหนัก และมีความรู้ ถึงปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตลอดจน อาการเบื้องต้นของโรค หากผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ควรรักษา และ รับประทานยา อย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด และรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการผิดปกติ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo