Finance

ทำความรู้จักกองทุนรวมแต่ละประเภท…จากสินทรัพย์ลงทุน

กองทุนรวม แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร ทำความรู้จักก่อนเลือกลงทุน เพื่อให้ทราบว่า กองทุนรวมประเภทไหนเหมาะกับความต้องการของผู้ลงทุนเอง เพื่อให้สอดคล้องเป้าหมายของการลงทุน

  • ผู้ลงทุนควรรู้จักกองทุนรวมแต่ละประเภท เพื่อที่จะทราบว่ากองทุนรวมนั้นๆ เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนแบบใด สามารถตอบโจทย์ และนำไปสู่เป้าหมายการลงทุนได้หรือไม่
  • กองทุนรวมเปรียบเหมือนเครื่องมือที่พาผู้ลงทุนไปรับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ระบุไว้ในนโยบายการลงทุน ดังนั้น ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับตนเอง

กองทุนรวม

ก่อนจะเริ่มลงทุนใน กองทุนรวม ผู้ลงทุนควรรู้จักกองทุนรวมแต่ละประเภทเสียก่อน เพื่อที่จะทราบว่ากองทุนรวมนั้นๆ เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนแบบใด และสอดคล้องกับเป้าหมายความฝันของตนเองหรือไม่

การแบ่งประเภทกองทุนรวม สามารถแบ่งได้หลายประเภท เช่น ตามลักษณะการจัดจำหน่ายและการไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน ตามการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามนโยบายการลงทุน เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจได้ง่าย และสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะกับตนเองได้ จึงขอแบ่งประเภทกองทุนรวมตามสินทรัพย์ลงทุนออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

กองทุนรวม

กลุ่มที่ 1 ได้แก่ เงินฝาก ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ระยะสั้น

สินทรัพย์กลุ่มนี้ เป็นสินทรัพย์ที่ให้ความปลอดภัย ให้สภาพคล่อง มีความคล่องตัวในการซื้อขาย เพราะอายุของสินทรัพย์จะไม่เกิน 1 ปี มีความเสี่ยงต่ำ โดยผลตอบแทนจะใกล้เคียงกับการฝากเงินในธนาคาร จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการพักเงินระยะสั้น สินทรัพย์กลุ่มนี้จะอยู่ในกองทุนรวมประเภท กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)

กลุ่มที่ 2 ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ตราสารหนี้

เป็นสินทรัพย์ที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ ให้ผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการรับผลตอบแทนเป็นรายได้ประจำในรูปของดอกเบี้ย โดยประเภทกองทุนรวมที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว คือ กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)

กลุ่มที่ 3 ได้แก่ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ

เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและความผันผวนสูง แต่จะชดเชยด้วยการให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ โดยนอกจากกำไรส่วนต่างจากราคาแล้ว ผู้ลงทุนยังมีโอกาสได้รับปันผลอีกด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและสภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น สินทรัพย์นี้จึงเหมาะกับผู้ที่มุ่งหวังให้เงินลงทุนเติบโต สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ได้ โดยสินทรัพย์กลุ่มนี้จะอยู่ในกองทุนรวมประเภท กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund)

กลุ่มที่ 4 ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน

สินทรัพย์กลุ่มนี้ เมื่อลงทุนแล้วจะมีรายได้ เข้ามาค่อนข้างสม่ำเสมอ ในรูปของ “ค่าเช่า” หรือ “รายรับ” ดังนั้น ความเสี่ยงจึงอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการรับผลตอบแทนเป็นรายได้ประจำในรูปของค่าเช่า หรือรายรับต่างๆ โดยประเภทกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้ ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) / กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REITs) / กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund: IFF)

กลุ่มที่ 5 ได้แก่ ทองคำ สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ

สินทรัพย์กลุ่มนี้ เหมาะกับการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ในกลุ่มอื่นๆ น้อย และไม่ได้มีระยะเวลาในการลงทุนที่เหมาะสม โดยนอกจากเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว อาจมองเป็นสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไรส่วนต่างจากราคาได้อีกด้วย สินทรัพย์ลงทุนทางเลือกกลุ่มหลัก คือ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • Hard Commodity เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป หรือมีการค้นพบเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อัตราการค้นพบนั้นน้อยมาก เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ เงิน ทองคำขาว อลูมิเนียม ทองแดง เป็นต้น
  • Soft Commodity เป็นสินค้าการเกษตร มีการผลิตขึ้นและทดแทนได้ แต่ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยการผลิตต่างๆ เปลี่ยนไปตามฤดูกาล เปลี่ยนไปตามโรคระบาด เช่น ยางพารา ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำตาล ฝ้าย เนื้อโค เนื้อสุกร เป็นต้น

กองทุนรวม

อย่างไรก็ตาม แม้สินทรัพย์กลุ่มนี้เป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ก็มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากราคาสินทรัพย์มีความผันผวนสูง โดยนอกจากความต้องการใช้ (Demand) และปริมาณที่มีให้ใช้ (Supply) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดราคาสินทรัพย์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก เช่น ฤดูกาล ภัยธรรมชาติ สงคราม โรคระบาด ล้วนมีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ รวมถึงอาจไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย ดังนั้น ผู้ที่จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ไปลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงสูงได้

โดยประเภทกองทุนรวมที่ไปลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มนี้ คือ กองทุนรวมทองคำ (Gold Fund) /กองทุนรวมน้ำมัน (Oil Fund) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกองทุนรวมบางประเภทที่ถือสินทรัพย์หลายอย่าง ทั้งตราสารหนี้ หุ้นไทย และสินทรัพย์อื่นๆ เรียกว่า กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) โดยผลตอบแทนที่กองทุนรวมผสมจะได้รับและความเสี่ยงของการลงทุนจะแตกต่างไปตามสัดส่วนการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์ เช่น กองทุนรวมผสม A ลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50% จะมีความเสี่ยงสูงกว่า กองทุนรวมผสม B ที่ลงทุนในหุ้น 20% และตราสารหนี้ 80%

กองทุนรวมผสม จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางค่อนข้างสูง หรือต้องการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ภายในกองทุนเดียว โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะกับแต่ละภาวะตลาด

โดยสรุปแล้ว หากผู้ลงทุนอยากได้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ใด ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ไปลงทุนในสินทรัพย์นั้น รวมทั้งควรพิจารณาถึงผลตอบแทนที่คาดหวัง ระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ และระยะเวลาการลงทุน ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย

นารินทิพย์ ท่องสายชล
เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
www.set.or.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK