Economics

เปิดกว้างรัฐวิสาหกิจถือหุ้น ‘เอราวัณ-บงกช’

“ศิริ” รมว.พลังงาน เปิดกว้างรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพด้านการเงินถือหุ้นในแหล่งเอราวัณ-บงกช ส้ดส่วน 25% ย้ำเพราะต้องใช้เงินถึง 2.5 แสนล้านบาทร่วมลงทุนกับเอกชน

ศิริ จิระพงษ์พันธ์3

57868

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาซองข้อเสนอขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) G1/62 (บงกช) ว่า วันนี้ ( 26 กันยายน 2561) คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงเป็นประธานได้ทำการเปิดซองข้อเสนอ 1-3 พร้อมกันแล้วทั้งสองแปลง ประกอบด้วย

ซองที่ 1 ซองด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรตามกฎหมาย

ซองที่ 2 การยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วน 25%

ซองที่ 3 ข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ และแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

หลังจากนี้คณะทำงานพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมี 3 คณะจะพิจารณาข้อเสนอ ประกอบด้วย

  1. คณะทำงานพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  2. คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ
  3. คณะทำงานพิจารณาข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน  โดยจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน และกลับมาให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาต่อ จากนั้นคณะอนุกรรมการฯจะทำการเปิดซองที่ 4  หรือซองข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในปลายเดือนตุลาคม 2561  และจะทราบสัดส่วนการแบ่งปันกำไรให้รัฐไม่น้อยกว่า 50% ของผลกำไรหลังค่าใช้จ่ายในเดือนพฤศจิกายน

ขั้นตอนต่อไป จะนำเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาเสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกในแต่ละแปลงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561  และคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ได้รับการคัดเลือกในแต่ละแปลงได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

“สำหรับคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูล คงไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นผู้พัฒนาอยู่เดิมแล้ว และมั่นใจในสิ่งที่บริหารจัดการมา ซึ่งต้องชื่นชมว่าได้ผลเป็นเลิศ ได้ผลผลิตรวมกันปัจจุบัน 2,150 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และการประมูลครั้งนี้ผู้ชนะประมูลต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันสำหรับแหล่งเอราวัณ และไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวันสำหรับแหล่งบงกชถือเป็นเรื่องท้าทายมาก ”

บงกช

นายศิริ ยืนยันว่า การดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใส และชัดเจน โดยจะมีการเปิดเผยขั้นตอนการเปิดประมูลทุกขั้นตอนเป็นระยะ

“ขอสร้างความมั่นใจว่า ข้อเสนอการประมูลครั้งนี้ สามารถสร้างระบบ เงื่อนไข และกรอบที่เปิดเผยโปร่งใส ให้ผู้ประกอบการ 2 รายแข่งขันอย่างจริงจัง และมั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เพราะเกณฑ์ข้อเสนอราคาก๊าซฯ มีน้ำหน้ก 65 คะแนน และการันตีตลอดอายุสัญญา 20 ปี ดังนั้นยืนยันได้ว่าค่าไฟฟ้าจะไม่แพงขึ้น และส่วนแบ่งของรัฐจะไม่ลดลง”

สำหรับกระบวนการรื้อถอนแท่นในแหล่งเอราวัณ และบงกช ที่กำลังหมดอายุนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการอยู่ในกระบวนการรื้อถอน 4-5 แท่น คาดว่าจะต้องรื้อถอนทั้งหมด 50-60 แท่น น่าจะเก็บไว้ 220 แท่น ต้องสร้างใหม่ 150 แทน

นายศิริ กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้ จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยในช่วง 10 ปีแรกเพื่อให้ได้ปิโตรเลียมในระดับตาม TOR  หรือ ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันสำหรับแหล่งเอราวัณ และไม่น้อยกว่า 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวันสำหรับแหล่งบงกชต้องใช้เงินลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท

ส่วนรัฐต้องลงทุนถึง 2.5 แสนล้านบาทจากการเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 25% ในแหล่งปิโตรเลียมตามข้อกำหนด ขณะเดียวกันรัฐจะได้รายได้จากค่าภาคหลวงการันตี 10 ปี จำนวน 8 แสนล้านบาท หรือ 80,000 ล้านบาทต่อปีสูงกว่า ภายใต้ระบบสัมปทานแบบไทยแลนด์วัน (Thailand 1) ส่วนจะสูงกว่าสัมปทานในระบบไทยแลนด์ทรี (Thailand 3)หรือไม่จะต้องศึกษากันต่อไป

ส่วนข้อกำหนดใน TOR กรณีให้รัฐเข้าร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต ( State Participation ) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกินร้อยละ 25  ภายใต้หลักการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 25 นั้น นายศิริ กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ยื่นประมูลมีสิทธิเสนอมาได้ว่าหน่วยงานรัฐใดจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนดังกล่าว แต่การตัดสินใจอยู่ที่กระทรวงพลังงานที่จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนปตท.สผ.ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่วนจะเข้ามาถือหุ้นได้หรือไม่ต้องผ่านการศึกษาก่อน

Avatar photo