Economics

กลุ่ม ERS จี้รัฐบาลแก้ปัญหา ‘สำรองไฟฟ้า’ ล้นประเทศ ลดภาระค่าไฟประชาชน

“ปิยสวัสดิ์” นำทีมกลุ่ม ERS ชี้ไทยอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าพรึ่บ สวนทางความต้องการดิ่ง จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา “สำรองไฟฟ้า” ล้นประเทศ เปิดตลาดเสรี ลดภาระบิล ค่าไฟ ประชาชน

เมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 63) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายมนูญ ศิริวรรณ และนายคุรุจิต นาครทรรพ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้เปิดเผยข้อเสนอใหม่ ๆ ในการปฏิรูปพลังงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี ของการก่อตั้งกลุ่ม ERS

ค่าไฟ ERS

โดยมองย้อนทศวรรษที่ผ่านมาว่า ภาครัฐได้มีการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยมิได้ทบทวนแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวที่ลดลงอย่างเพียงพอ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายช่วง รวมทั้งการคาดการณ์ที่ต่ำเกินไปของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใช้เอง (Prosumer) ของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 “ทำให้เกิดปัญหากำลังผลิตสำรองสูงถึงระดับ 50% เป็นภาระต่อผู้บริโภค” เนื่องจากระบบค่าไฟฟ้าเป็นแบบผ่านส่งต้นทุน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อ ไฟฟ้า เข้าระบบสายส่งเพียงรายเดียว

ERS จึงมีข้อเสนอในหลากหลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

1. ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฐาน เพื่อลดค่าไฟฐานและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่รับประกันผลตอบแทน

2. ในส่วนของกำลังผลิตใหม่ ให้เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล

3. ในส่วนของกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว ให้ปรับระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order โดยจัดให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา

4. รัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้ 

5. ไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น

DJI 0004 1

ในด้านการจัดทำ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)” ควรปรับปรุงกระบวนการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีความยืดหยุ่น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้เกิดการอนุมัติกำลังผลิตที่เกินความจำเป็นและเป็นปัญหาที่ยาวนาน และเพื่อวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังมากขึ้น อีกทั้งควรให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ได้ PDP ที่โปร่งใสและสมบูรณ์

เช่น PDP ควรแสดงต้นทุนของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งเอกชนและ กฟผ. ข้อจำกัดในการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ข้อจำกัดของระบบสายส่งสาย รวมทั้งการวิเคราะห์ทางเลือกต่าง ๆ ในการจัดหา ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ (Optimization) ระหว่างสายส่งสายจำหน่าย กับการสร้างโรงไฟฟ้าในการจัดทำแผน PDP และแผนการลงทุนในระบบสายส่งสายจำหน่าย

การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ควรผ่านการประมูลแข่งขันด้านราคา โดยมีต้นทุนผันแปรของโรงไฟฟ้าหลักเป็นเพดาน เป็นต้น

ส่วนในระยะยาว ERS มองว่า หากปฏิรูปให้มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี สถานการณ์สำรองไฟฟ้าล้นเกินจะทำให้ ค่าไฟ ลดลง แทนที่จะสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรเปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เช่นเดียวกับที่ได้มีการเปิด TPA ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปแล้ว การแข่งขันตลอดสายจะทำให้ระบบมีทั้งความมั่นคงและได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค

fig 28 06 2020 04 30 52

กลุ่ม ERS จึงเสนอให้เตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงาน ไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังผลิตสำรองเกิน หรือขาด หรือสมดุล

“ERS ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่อย่างอิสระด้วยความโปร่งใส มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ใช้การประมูลแทนดุลพินิจในกรณีที่ทำได้ เปิดเผยรายละเอียดที่มาของค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ต้นทุน (ราคารับซื้อ) ของโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ และการคืนเงินค่าลงทุนที่ไม่ได้ใช้จริงใน ค่าไฟ ฐานที่เก็บกับผู้บริโภคไปแล้ว รวมทั้งให้การ ไฟฟ้า ทั้ง 3 เปิดเผยข้อมูลลักษณะเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายงานในแบบ 56-1” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวถึงภาพรวมของการปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนว่า ERS ขอเสนอให้ไทยกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานโดยรวม ไม่ต่ำกว่า 50% โดยเร็ว เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมทั้งนำระบบ Carbon Tax/Carbon Pricing มาใช้

ด้านปิโตรเลียม ERS ขอเร่งรัดให้พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนที่จะด้อยค่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ได้แก่ การเปิดสัมปทานรอบ 23 การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปฏิรูปอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้านท้าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo