General

ป.ป.ช. ชง 5 ข้อ ป้องกันทุจริต ‘เงินทอนวัด’ ชี้ช่องโหว่เพียบ

ป้องกันทุจริต เงินทอนวัด ป.ป.ช. ชง 5 ด้านสางปัญหา ชี้กฏหมายมีช่องโหว่เอื้อทุจริต ด้านครม.สั่งการ สำนักงานพุทธศาสนาฯ เร่งดำเนินการ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ตุลาคม 2563 มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อ ป้องกันทุจริต เงินทอนวัด หรือ งบประมาณเงินอุดหนุนวัด ของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ

ป้องกันทุจริต เงินทอนวัด

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะฯ ของ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการ โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า จากการศึกษาพฤติการณ์ รูปแบบการทุจริต รวมทั้งข้อกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับ งบประมาณเงินอุดหนุนวัด ของ พศ. พบว่า กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง สามารถเปิดช่อง และเอื้อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

นอกจากนี้ เจ้าอาวาสในฐานะผู้แทนของวัด ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ยังไม่มีความรู้เพียงพอ ในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดิน ทำให้บุคคลบางกลุ่ม ใช้วัดเป็นเครื่องมือ ในการจัดสรรงบประมาณ เงินอุดหนุน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์

ช่องโหว่ดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหา และความเสี่ยงในการทุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำคำขอ และจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณ การติดตามและประเมินผล รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล เพื่อสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบ

สำหรับงบประมาณเงินอุดหนุนของ พศ. ประกอบด้วยงบประมาณประเภทเงินอุดหนุน 3 ประเภท ได้แก่ 1. งบประมาณเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด 2. งบประมาณเงินอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ 3. งบประมาณเงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม

พศ.

จากการพิจารณาของ คุณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และป้องกันความเสี่ยง เกี่ยวกับการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนวัดของ พศ. จึงมีข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริต รวม 5 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล

รัฐบาลควรกำหนดให้การบูรณาการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ในการจัดทำ ฐานข้อมูลของวัด เป็น วาระแห่งชาติ โดย พศ. ต้องมีระบบฐานข้อมูลกลางข้อมูล การจัดทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงบประมาณและการติดตามและประเมินผล

พร้อมกันนี้ ควรนำข้อมูลเดิม มาจัดทำเป็นข้อมูลรูปแบบดิจิทัล ในฐานข้อมูลกลาง รวมทั้งควรจัดทำระบบสารสนเทศ รองรับการใช้งานข้อมูล จากฐานข้อมูลกลางในรูปแบบ Web-Base Technology หรือ Mobile Application ที่ผู้ใช้งาน สามารถปฏิบัติงาน และเรียกดูข้อมูลบน Web Browser หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ รวมทั้งมีการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเปิดเผยข้อมูล ให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

2. ด้านกระบวนการจัดทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ

  • ให้ พศ. ดำเนินการจัดทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ ด้านการก่อสร้างการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัด เป็นงบประมาณประเภท เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ
  • กรณีงบประมาณงบเงินอุดหนุนประเภทอื่น เช่น เงินอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา เงินอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม และเงินอุดหนุนอื่น ๆ ให้ พศ. จัดทำหลักเกณฑ์การขอรับ และการจัดสรรเงินอุดหนุน อย่างมีส่วนร่วมและเป็นธรรม สามารถวัดผลได้ในเชิงปริมาณ โดยจัดทำเป็นระเบียบหรือประกาศที่เป็นทางการ พร้อมประกาศให้สาธารณชนรับทราบ

พระ

  • ให้ พศ. ปรับปรุงคณะกรรมการ คณะทำงานพิจารณาคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ทั้งในระดับส่วนกลาง และภูมิภาค โดยเพิ่ม คณะกรรมการ คณะทำงานจากภายนอก เช่น ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนผู้ตรวจราชการภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตามความเหมาะสม

คณะทำงานดังกล่าว จะมีหน้าที่และอำนาจ ในการพิจารณาคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ งบเงินอุดหนุน การจัดทำแผนบูรณาการด้านงบประมาณเงินอุดหนุนวัด จัดทำฐานข้อมูลต่าง ๆ ของวัดที่สำคัญ และการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล การเบิกจ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน รวมทั้งการประเมินศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อวัดด้วย

  • การจัดทำคำขอ และการพิจารณางบประมาณงบเงินอุดหนุนของ พศ. ควรให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและฐานข้อมูลจริง รวมทั้งให้พิจารณาจาก ข้อมูลฐานะการเงิน และรายรับ-รายจ่ายของวัด ประกอบด้วย และให้มีการประมาณรายละเอียด ค่าใช้จ่ายของโครงการ ที่จะขอรับงบประมาณให้ชัดเจน

3. ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ

  • ให้ พศ. ประสานงาน และสนับสนุนให้วัด หรือผู้ได้รับงบประมาณงบเงินอุดหนุน ต้องจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน และไม่ควรเบิกจ่ายล่วงหน้า ก่อนมีแผนการใช้จ่ายเงิน โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติของกระทรวงการคลัง (กค.) เรื่อง การเบิกจ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดเก็บเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน ต้องรายงานผลการเบิกจ่าย และใช้งบประมาณงบเงินอุดหนุนตามแนวทางที่ พศ. กำหนด และให้ พศ. ดำเนินตามหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัด ตามกฎกระทรวงและมติมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

  • ให้ พศ. ร่วมกับกรมบัญชีกลางจัดทำคู่มือ แนวทางปฏิบัติ ในการใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมมีการให้คำแนะนำ ความรู้แก่วัด และผู้ได้งบประมาณงบเงินอุดหนุนจาก พศ.

4. ด้านการติดตามและประเมินผล

พศ. ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ติดตาม และการประเมินผล การใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน วัตถุประสงค์และงบประมาณที่ได้รับ ทั้งนี้ อาจมีการบูรณาการกับหน่วยงานด้านการตรวจสอบและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตาม และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมการเปิดเผยต่อสาธารณะ

5. ด้านการแจ้งเบาะแส

  • ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต

พศ. ควรเป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการ ตลอดจนสิทธิที่ได้รับในการแจ้งเบาะแสการทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้บำเหน็จความชอบ การกันเป็นพยาน การลดโทษและการให้ความคุ้มครองพยาน พ.ศ. 2553

  • กำหนดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์จากพระภิกษุและประชาชน และควรกำหนดกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ให้ชัดเจน และมีความรวดเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo