Politics

‘อนุชา’ ขอนายกฯ อย่าลาออกตามข้อเรียกร้อง ชี้เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย

“อนุชา” ขอนายกฯ อย่าลาออกตามข้อเรียกร้อง ชี้เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข พร้อมให้ผู้เห็นต่าง ที่อยากบริหารประเทศมาเลือกตั้งใหม่ใน 4 ปีข้างหน้า

นาย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อภิปรายชี้แจงในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ชื่นชมสมาชิกรัฐสภา และประธานสภา ที่ได้ร่วมกันพูดคุย เพื่อหาทางออกวิกฤติประเทศ จนนำมาสู่การเปิดการอภิปรายทั่วไป ในวันนี้ (28 ต.ค.)  ซึ่งตนเองถือว่า เป็นแสงสว่างรำไร ที่จะเห็นสภาที่ทุกคนอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชน แก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรก็แล้วแต่ สภาแห่งนี้ควรเป็นที่พึ่งของประชาชน

อนุชา

เมื่อเห็นว่า สถานการณ์เริ่มจะเลวร้าย เริ่มจะควบคุมไม่อยู่ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ได้เห็นด้วยกับแนวคิดของสมาชิกรัฐสภา จึงขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เปิดการอภิปรายตามมาตรา 165

แต่หลังจากที่มีการเสนอญัญติ ตนเองผิดหวัง ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านระบุว่า ญัตติที่รัฐบาลเสนอมานั้น ไม่มีความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหา และให้ร้ายต่อผู้ชุมนุม โดยที่พวกเขาตอบโต้ไม่ได้

คำพูดนี้ฟังดูเหมือนจะดี ฟังดูเหมือน เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ยืนยันได้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  นายกรัฐมนตรีมีเจตนาบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศผ่านทางรัฐสภา มีความจริงใจ และเจตนาอย่างแน่วแน่ ต่อการเสนอญัตติ

นอกจากนี้ ในญัตติ ยังพูดถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ซึ่งเชื่อว่า ด้วยวุฒิภาวะของสมาชิกรัฐสภานั้น ย่อมเล็งเห็นได้ว่า สามารถที่จะอภิปรายได้ในหลายรูปแบบ ในทางสร้างสรรค์ ที่จะแก้ปัญหาด้วยเจตนา และความจริงใจ ที่จะแก้ปัญหาของประเทศ

การอภิปรายในวันนี้ จะเห็นได้ว่าสมาชิกรัฐสภาเกือบทั้งหมด ไม่มีกล่าวร้ายผู้ชุมนุมโดยไม่จำเป็นแม้แต่น้อย แต่ตรงกันข้ามพรรคร่วมฝ่ายค้าน กลับมีแต่กล่าวโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ไม่คิดถึงหนทางแก้ไขที่เป็นไปได้

ส่วนตัวมองว่า สภา ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน ได้เล็งเห็นถึงความรุนแรง เล็งเห็นถึงความแตกแยกของสังคมทางความคิดในระบอบประชาธิปไตย แต่ฝ่ายค้านกลับเมินเฉยว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเรียกร้องธรรมดา เป็นข้อเรียกร้องที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากคิดเช่นนั้นถือว่า มีจิตใจที่คับแคบ กับระบอบประชาธิปไตยเกินไป

นาย อนุชา กล่าวด้วยว่า แม้นายกรัฐมนตรี จะบริหารราชการแผ่นดินไม่กี่ปี แต่ก็มาตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับเลือกเข้ามา โดยรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ

แม้หลายฝ่ายจะไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายกรัฐมนตรี ก็แสดงเจตนาว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐสภาต้องการ ซึ่งถือว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องมาพูดคุยกันในรัฐสภา

นายอนุชา ยังระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ มีจุดยืนที่จะยึดมั่นการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามที่หัวหน้าพรรคได้กล่าวไว้ว่า ต้องการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี รวมถึงมีจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียกร้อง

อนุชา

“คำว่าประชาธิปไตย ผมคงไม่พูดถึงว่าใครคิดอย่างไร และไม่อาจสั่งสอน หรือบอกกับทุกคนที่มีวุฒิภาวะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่หนีไม่ได้จากการเป็นประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งแล้วต้องอยู่ให้ครบ 4 ปีตามรัฐธรรมนูญ แต่หากท่านคิดว่า เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และมองว่า ตนเองมีความสามารถ ที่จะนำพาประเทศเดินหน้าไปได้ อีก 4 ปีขอให้ท่านมาเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่มาใช้วิธีอย่างนี้”

นาย อนุชา ระบุว่าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ออกแบบขึ้นมา เพื่อให้คนออกมาเรียกร้อง แล้วบอกว่าต้องทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยเห็นต่างได้แต่ต้องเคารพความเห็นต่าง  ไม่ใช่ปล่อยให้ความเห็นต่าง นำไปสู่ความแตกแยก เพราะยังมีสังคมอีกส่วนที่เห็นต่าง

ส่วนข้อที่เรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น นายอนุชา ระบุว่า ได้บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า ห้ามลาออก เพราะหากลาออก ก็เท่ากับว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังเห็นว่านายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย หรือผิดรัธรรมนูญ หรือบริหารบ้านเมืองผิดพลาด

ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูประบบกษัตริย์ พูดเหมือนดี พูดเหมือนเท่ แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมไปปิดขบวนเสด็จ และแสดงอาการที่ไม่บังควรนั้น ถามกลับว่า เป็นสิ่งที่ดีแล้วหรือไม่

นาย อนุชา กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่า ทุกคนในสภารักประเทศนี้ ยืนหยัดที่จะดูแล และปกป้องประเทศ ยืนหยัดที่จะดู แลและปกป้องประชาชน ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงกับลูกหลานที่กำลังทำตามความคิด หรือไม่รู้ว่าทำตามความคิดของใคร แต่สมาชิกรัฐสภาต้องไม่ลืมว่า มีความคิดเห็นแตกแยก และในแผ่นดินอยู่ หากไม่ช่วยกันระงับเพราะเล็งเห็นอะไรบางอย่างอยู่ภายภาคหน้า คนเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

“หากพวกท่านเห็นว่าประชาธิปไตยควรที่จะมีทางออก ต้องเจรจาในความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่บังคับหรือขู่เข็ญว่าต้องทำอย่างไร เพราะการบังคับไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย นี่คือสังคมไทย ผมต้องการเห็นการเจรจาหาข้อยุติโดยสันติวิธี ช่วยกันหาทางแก้ไข”

“สังคมต้องการตัวช่วย ให้ประชาชนเบาใจได้ว่าลูกหลานจะปลอดภัย ให้ประชาชนมีความอุ่นใจว่า ทุกคนในสังคมหันหน้าคุย และสิ่งที่อยากฝากสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็คือพวกเราร่วมใจกันที่จะดูแลปกป้องแผ่นดินของเรา ดูแลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูแลและปกป้องประชาชนไม่ว่าเขาจะเห็นด้วย หรือเห็นต่าง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo