Digital Economy

คุยกับ ‘วโรรส โรจนะ’ เมื่อความท้าทายของ ‘บล็อกเกอร์’ ไม่ใช่เอไอ

นายวโรรส โรจนะ
นายวโรรส โรจนะ

หากเอ่ยถึงอาชีพการทำคอนเทนต์ หนึ่งในงานที่น่าสนใจอาจเป็นการทำบล็อก หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “บล็อกเกอร์” แถมในปีที่ผ่านมา มีการสนับสนุนจากบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างซีพีออลล์จัดงานมอบรางวัล Thailand Best Blog Awards 2018 by CP ALL เพื่อให้กำลังใจแก่บล็อกเกอร์ในหลาย ๆ แขนงด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนจะไปสู่การประกวดและมอบรางวัล คำถามน่าคิดก็คือในการทำบล็อกขึ้นมาสักชิ้นนั้น อะไรคือคำจำกัดความของคำว่าการสร้างคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในจุดนี้ นายวโรรส โรจนะ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยมองว่า บล็อกเกอร์ก็คือสื่อแขนงหนึ่ง จุดเด่นของบล็อกเกอร์คือการรู้ลึกรู้จริงในเรื่องที่ต้องการจะเขียน และสามารถใส่ความเป็นตัวตนของผู้เขียนลงไปด้วยได้ พร้อมยกตัวอย่างเว็บไซต์ SpaceTH.co ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศจากเวทีประกวด Thailand Best Blog Awards 2018 by CP ALL เมื่อปีที่ผ่านมาว่าเป็นบล็อกรวมตัวของผู้ที่ชื่นชอบในข่าวสารด้านอวกาศและสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนใจ

กระนั้น ความคาดหวังให้บล็อกเกอร์รู้ลึกรู้จริงในเรื่องที่จะเขียน อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้หากบล็อกเกอร์บังเอิญพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลในวงการที่พวกเขาทำงานอยู่ ในจุดนี้ นายวโรรส ให้ทัศนะว่า “ขอให้ยึดสองหลัก หนึ่งคือหลักกฎหมายไทย เพื่อจะได้ตระหนักว่าอะไรที่เล่าได้ อะไรที่เล่าไม่ได้ เพราะเรื่องที่จะเล่ามันอาจเป็นเรื่องที่ถูกจริยธรรม แต่ผิดกฎหมายก็ได้ สองคือ ความจริงใจ เพราะบล็อกเกอร์ขายตัวตน ขายความจริงใจ เกิดวันหนึ่งคุณรักชอบร้านอาหารนี้ แล้วคุณเขียนเชียร์จนเกินพอดี ก็จะเสียตัวตนของคุณไปเช่นกัน”

“ทุกอย่างมีสองด้าน ทั้งเรื่องกฎหมายและสังคม เช่นคุณหมอแล็บแพนด้า เขียนข้อความเตือนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ เขาก็โดนฟ้อง แต่สังคมก็เข้ามาช่วยเรื่องการทำคดี เรื่องกำลังใจ ทุกอย่างต้องประกอบด้วยสองด้าน”

“เอไอ” เป็นความท้าทายของคนเขียนบล็อกหรือยัง?

นอกจากความท้าทายเรื่องเนื้อหาที่จะเขียนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในหลายด้าน เช่น กรณีของสำนักข่าวต่างประเทศที่ใช้เอไอช่วยในการสร้างคอนเทนต์ข่าว อย่างไรก็ดี สำหรับวงการบล็อกเกอร์ นายวโรรส มองว่า ความท้าทายด้านเอไอจะเข้ามาแย่งงานบล็อกเกอร์นั้นถือว่าน้อย เพราะผู้อ่านบล็อกนอกจากจะเสพข้อเท็จจริงในบล็อกแล้ว ยังต้องการเสพตัวตนของคนเขียนบล็อกด้วย ซึ่งเอไอยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนในจุดนี้ได้ในเร็ววันนั่นเอง

ปัจจุบันสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยมีเว็บไซต์ที่เป็นสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 700 เว็บ โดยในจำนวนนี้เป็นเว็บไซต์ที่ยัง Active อยู่ประมาณ 150 เว็บ ส่วนรายได้ของบล็อกเกอร์นั้น ทางสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยเผยว่าไม่มีการเก็บข้อมูล แต่บล็อกเกอร์หลายรายก็สามารถหารายได้จากงานโฆษณา และได้รับความนิยมไม่แพ้ดาราที่มีชื่อเสียงแต่อย่างใด

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight