General

ฮือฮา! นาซ่า ค้นพบ ‘โมเลกุลน้ำ’ บนดวงจันทร์ แถวหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส

ค้นพบ โมเลกุลน้ำ บนดวงจันทร์ บริเวณหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส โดยหอสังเกตการณ์ SOFIA ของนาซ่า คาดการณ์ดวงจันทร์อาจมีปริมาณน้ำมากกว่าที่คาด

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ NARIT โพสต์เฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ถึงการ ค้นพบ โมเลกุลน้ำ บนดวงจันทร์ บริเวณหลุมอุกกาบาตกลาวิอุสโดย กล้องโทรทรรศน์ในช่วงอินฟราเรดไกล บนหอสังเกตการณ์ SOFIA โดยระบุว่า

ค้นพบ โมเลกุลน้ำ บนดวงจันทร์

“เมื่อวานนี้ NASA แถลงการพบ โมเลกุลน้ำ บริเวณหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส ที่อยู่บริเวณด้านสว่างของดวงจันทร์

วันนี้ขอนำมิตรรักแฟนเพจทุกท่าน มาทำความรู้จัก #หลุมอุกกาบาตกลาวิอุส บนดวงจันทร์ กันอีกสักนิด

หลุมอุกกาบาตกลาวิอุส (Clavius crater) เป็นหนึ่งในหลุมอุกกาบาตกลุ่ม ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด บนดวงจันทร์ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูง (Highland) ขรุขระทางตอนใต้ ของพื้นผิวดวงจันทร์ด้านใกล้โลก

หลุมอุกกาบาตกลาวิอุสถูกตั้งชื่อตาม “คริสโตเฟอร์ กลาวิอุส” (Christopher Clavius) บาทหลวงเยซูอิต และนักคณิตศาสตร์-ดาราศาสตร์ชาวเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16

หลุมอุกกาบาตกลาวิอุส มีลักษณะปรากฏเป็นรูปวงรี แม้ว่ารูปร่างหลุม จะเป็นวงกลม เนื่องจากมุมมองจากผู้สังเกตมายังหลุมนี้

เราสามารถสังเกตหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส ได้ชัดเจน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา ในช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 – 11 ค่ำ บริเวณทางใต้ของดวงจันทร์ และจะสังเกตเห็น หลุมอุกกาบาตกลาวิอุส อยู่ใต้หลุมอุกกาบาตไทโค (Tycho crater) ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาต ที่โดดเด่นที่สุด บนดวงจันทร์ ด้วยมีร่องรอยฟุ้งกระจายออกไปในแนวรัศมี

ค้นพบ โมเลกุลน้ำ บนดวงจันทร์

นักดาราศาสตร์ประเมินว่า หลุมอุกกาบาตกลาวิอุส เป็นหลุมอุกกาบาตอายุมาก เกิดจากการพุ่งชน ของอุกกาบาตเมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อน ต่างจากหลุมอุกกาบาตไทโค ที่เป็นหลุมอุกกาบาตอายุน้อย มีอายุประมาณ 108 ล้านปี

คณะนักวิจัยจาก องค์การนาซา ได้ประกาศผลการวิจัยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ตรวจพบโมเลกุลน้ำ ที่กระจายตัว ตามหินและดิน ในหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส ซึ่งเป็นพื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนที่ได้รับแสงอาทิตย์ จนมีช่วงที่อุณหภูมิพื้นผิวเกิน 100 องศาเซลเซียส และเป็นพื้นที่ที่นักดาราศาสตร์ ไม่คาดว่าจะเจอน้ำมาก่อน

ต่างจากงานวิจัย เรื่อง น้ำบนดวงจันทร์ ก่อนหน้านี้ ที่มุ่งเน้นการหาน้ำแข็ง ตามก้นหลุมอุกกาบาต ที่อยู่ในเงามืดอย่างถาวร บริเวณขั้วดวงจันทร์ ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า ดวงจันทร์อาจมีน้ำมากกว่าที่เคยประมาณไว้

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

ขณะที่ ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ให้ความรู้เกี่ยวกับ หอสังเกตการณ์ SOFIA ที่ค้นพบโมเลกุลน้ำ บนดวงจันทร์ ครั้งนี้ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

SOFIA (Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy) เป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าเพียงลำเดียวที่ยังประจำการอยู่ โดยเครื่องบินจัมโบ้เจ็ท Boeing 747SP ลำนี้ ได้ถูกดัดแปลง เพื่อบรรทุกกล้องโทรทรรศน์ขนาดมหึมา 2.7 เมตร (ใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน)

ดวงจันทร์

หอดูดาวบินได้นี้ จะทำงานที่ระดับความสูง จากระดับน้ำทะเล ระหว่าง 38,000-45,000 ฟุต ซึ่งทำให้อยู่สูงกว่าชั้นบรรยากาศ ที่บดบังแสง ในช่วงคลื่นอินฟราเรดไปมากกว่า 99%

SOFIA เป็นความร่วมมือระหว่าง องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) และ ศูนย์อวกาศเยอรมนี (German Aerospace Center – DLR) โดยสามารถเดินทางไปได้ทุกที่บนโลก

ส่วนน้ำบนพื้นผิวของดวงจันทร์นั้น ก่อนหน้านี้ มีการค้นพบ น้ำในหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ ที่ไม่มีแสงแดดส่องไปถึง แต่ยังไม่เคยมีหลักฐานว่า สามารถพบน้ำได้นอกไปจากบริเวณหลุมอุกกาบาตที่มืดมิดเหล่านั้น

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าการศึกษาก่อนหน้านี้ อาจมีการค้นพบของหมู่ไฮดรอกซิล (OH) แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ถึงการมีอยู่ของน้ำในพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์

แต่การศึกษาของ SOFIA ทำให้ค้นพบสเปกตรัมการดูดกลืน ที่เป็นลักษณะเฉพาะ ของโมเลกุลของน้ำ ในหลุมอุกกาบาตกลาวิอุส ซึ่งอยู่ในบริเวณที่แสงอาทิตย์ส่องถึง ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า แม้กระทั่งบนพื้นผิวด้านสว่างของดวงจันทร์ ที่ถูกส่องสว่าง โดยแสงอันแรงจ้า จากดวงอาทิตย์ ก็สามารถพบน้ำได้เช่นกัน

คำถามที่น่าสนใจคือ น้ำที่ถูกผลิตขึ้นมานั้น สะสมขึ้นมาในปริมาณที่พบอยู่ได้อย่างไร ความเป็นไปได้ก็คือโมเลกุลของน้ำ อาจจะไปแทรกตัวอยู่ระหว่างเม็ดดินบนดวงจันทร์ และถูกปกป้องเอาไว้จากแสงอาทิตย์

การพบน้ำบนดวงจันทร์ มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เกี่ยวกับโครงการการส่งมนุษย์ ไปยังดวงจันทร์ในอนาคต เช่นโครงการ Artemis ของนาซา ที่วางแผนจะส่งมนุษย์กลับไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกครั้ง เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ไม่เพียงต่อการดำรงอยู่ของชีวิต แต่ยังอาจจะสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานอวกาศได้

นอกจากนี้ หากบนดวงจันทร์มีน้ำในปริมาณที่มากพอ นั่นหมายความว่าดวงจันทร์ อาจจะเป็นจุดหมายสำคัญของโครงการสำรวจอวกาศในอนาคต ที่อาจจะต้องมาเติมเสบียงในการเดินทาง ต่อไปยังห้วงอวกาศ ที่ไกลออกไป

ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo