World News

เอดีบีหั่นคาดการณ์ศก.เอเชียปี 62

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ประเมิน เศรษฐกิจเอเชียในปีหน้า จะได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น พร้อมย้ำถึงความเป็นไปได้ที่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่อาจเร่งเงินทุนไหลออกจากเอเชีย

adb

เอดีบีเปิดเผยรายงานแนวโน้มการพัฒนาเอเชีย ในวันนี้ (26 ก.ย.) โดยยังคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้ไว้ในระดับเดิมที่ 6% แต่ลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 5.8% จากเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ประเมินไว้ในระดับ 5.9% ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ระหว่าง 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก และสภาพคล่องโลกที่ตกอยู่ในภาวะตึงตัวมากขึ้น

ธนาคารระบุว่า มาตรการปกป้องทางการค้า จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ลดลงมาราว 0.5% แต่จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาคในเวลานี้

“อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเก็บภาษีในอัตรา 25% ต่อการค้าทั้งหมดของ 2 ประเทศ อาจทำให้เกิดบทสรุปที่รุนแรงกว่านี้”

รายงานชี้ด้วยว่า จีดีพีจีนอาจจะหายไปมากสุดถึง 1% ขณะที่สหรัฐอาจหายไป 0.2% ส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย ก็จะรับรู้ถึงผลกระทบนี้เช่นกัน เมื่อการผลิตของซัพพลายเชนทั่วโลกชะลอตัวลง

000 1776Q4

เอดีบี ประเมินว่า จีดีพีจีนในปีนี้ จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 6.6% แต่ลดคาดการณ์ปี 2562 ลงมา 0.1% ที่ 6.3% ท่ามกลางความต้องการที่ชะลอตัว และความสัมพันธ์เปราะบางกับสหรัฐ

นอกจากสงครามการค้าแล้ว สัญญาณต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแแรงเกินไป อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่เร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชียมากขึ้น และเพิ่มแรงกดดันต่อสกุลเงินเอเชีย

ประเทศที่มีหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อย่าง มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ และไทย อาจต้องเผชิญกับผลกระทบที่บั่นทอนเสถียรภาพในภาคการเงิน

โจเวฟ ซเวคลิค รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ประเทศเหล่านี้ ควรจัดการกับแรงกดดันสภาพคล่องให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผ่านวิธีการที่เรียกว่า มาตรการดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาค และปรับดอกเบี้ยนโยบายของตัวให้สอดคล้องกับเฟด

ค่าเงินของหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เปโซฟิลิปปินส์ และรูเปียะห์ อินโดนีเซีย อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น ซึ่งธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในเอเชีย รับมือกับเรื่องนี้ ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และขึ้นดอกเบี้ย วิธีการที่เอดีบี ระบุว่า อาจบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้

000 Hkg3977297
(แฟ้มภาพ)

นอกจากนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนนอกภูมิภาค ก็ อาจส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน

ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เงินเปโซอาร์เจนตินา และลีราตุรกี ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างนัก ทำให้เกิดแรงเทขาย และผลกระทบกระจายไปทั่วสกุลเงินเอเชีย อย่าง รูปีอินเดีย และรูเปียะห์อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า ในระยะกลางนั้น การปรับทิศทางการค้า อันเป็นผลมาจากสงครามการค้า อาจเอื้อประโยชน์ให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง เศรษฐกิจต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง อาทิ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้

gdp asia

เอดีบี ประเมินว่า ในปี 2561 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะขยายตัว 5.1% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.2% จากการที่ 6 ชาติใน 10 ประเทศของภูมิภาคนี้ จะมีการเติบโตในอัตราที่ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ในครั้งแรก

การเปลี่ยนสู่รัฐบาลใหม่ของมาเลเซีย ทำให้การลงทุนซบเซาลง ขณะที่การขยายตัวสุทธิในภาคส่งออกของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ๆไทย และเวียดนาม ก็เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ในปีนี้ เอดีบีคาดว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะขยายตัวราว 5.2% ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิม โดยส่งออก และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight