Politics

เข้มความปลอดภัยท่าเรือ-สะพาน รับประชาชนร่วมงาน ‘ลอยกระทง’ 31 ต.ค.

“คมนาคม” เข้มความปลอดภัย จัดเจ้าหน้าที่ประจำ “ท่าเรือ-สะพาน” รองรับประชาชนร่วมงาน “ลอยกระทง” 31 ต.ค. 63

วันนี้ (27 ต.ค. 63)  นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมกำหนดแผนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและมาตรการป้องกันโควิด-19 ในวันลอยกระทงประจำปี 2563 วันที่ 31 ตุลาคม 263 นี้ โดยมีกรมเจ้าท่า (จท.) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการเรือ ท่าเรือ และผู้จัดกิจกรรมลอยกระทงเข้าร่วม

S 38207528

ที่ประชุมฯ ได้มีมติให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำ ณ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กรมเจ้าท่า ตลอด 24 ชั่วโมง

ในกรุงเทพฯ ให้จัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยบริเวณท่าเทียบเรือ จำนวน 5 จุด วัน ลอยกระทง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 8 , ท่าเรือตลาดยอดพิมาน , ท่าเรือริเวอร์ซิตี้, ท่าเรือไอคอนสยาม และท่าเรือเอเชียทีค รวมถึงจัดเรือตรวจการณ์ จำนวน 10 ลำ เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ 171 คน ท่าเรือ 62 ท่า แยกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา 55 ท่าเรือ คลองแสนแสบ 7 ท่าเรือ เรือ 10 ลำ

ในส่วนภูมิภาค ตั้งศูนย์อำนวยการฯ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 – 7 และ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จำนวน  41 ศูนย์ รวมกำลังพลทั้งสิ้น 891 คน เรือ 58 ลำ

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบเรือโดยสารและท่าเทียบเรือต่างๆ ให้มีความปลอดภัยรวมถึงให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19

ลอยกระทง1211628
ภาพจากเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน

ตำรวจช่วยดูแล “13 สะพานหลัก”

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จากการประเมินพฤติกรรมการเดินทางและการทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 นี้ ของประชาชนคาดว่า การเดินทางสัญจรระหว่างจังหวัดของประชาชนจะไม่หนาแน่นมากนัก แต่อาจจะมีการเดินทางสัญจรมากกว่าปกติในช่วงคืนวันลอยกระทงในสถานที่ที่มีการจัดงาน จึงได้กำชับหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ทช. ได้คำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่จะเดินทางมา ลอยกระทง ณ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้ประสานไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจมารักษาการณ์ดูแลความปลอดภัยสะพาน 13 แห่ง ในช่วงเวลา 17.30 – 24.00 น. ดังนี้

สะพานพระราม 4 สะพานพระราม 5 สะพานพระราม 7 สะพานกรุงธน สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สะพานพระปกเกล้า สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สะพานพระราม 3 สะพานกรุงเทพ สะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 และสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์

รวมทั้ง ทช.ได้จัดเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติเวรยามประจำสะพานในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ณ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 13 แห่ง เพื่อรายงานอุบัติเหตุให้ส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบต่อไป

สะพานพุทธ

ประวัติ “ลอยกระทง”

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญทางศาสนาฮินดูวันหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา มักจะตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติ บางปีเทศกาลลอยกระทงจะตรงกับเดือนตุลาคม

ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก

สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทง ได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

นอกจากนี้บางประเทศก็มีเทศกาลลอยกระทงด้วย เช่น ประเทศลาว มักจะลอยกระทงในวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ในงานไหลเฮือไฟของลาว ประเทศกัมพูชา มีการลอยกระทง 2 ครั้ง คือลอยกระทงหลวงกลางเดือน 11 ราษฎรจะทำกระทงเล็กและบรรจุอาหารลงไปด้วย ส่วนกลางเดือน 12 จะมีกระทงหลวงเป็นกระทงใหญ่ ราษฎรจะไม่ได้ทำและกระทงนี้จะมีอาหารบรรจุลงไปด้วยเช่นกัน โดยมีคติว่าเพื่อส่งส่วนบุญไปให้เปรต

ส่วน ประเทศพม่า ในวัน ลอยกระทง ผู้คนจะพากันทำกระทงตกแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในแหล่งน้ำ ส่วนในพื้นที่ติดทะเลก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการบูชาและขอขมาพระแม่คงคา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo