Business

​’นโยบายเศรษฐกิจ’ รับมือวิกฤติโควิด ปรับกลยุทธ์ จาก ‘ปูพรม’ สู่ ‘ตรงจุด’

​นโยบายเศรษฐกิจ ปรับจากการปูพรม สู่การแก้ปัญหาตรงจุด ตามผลกระทบที่มากน้อยต่างกัน จากเดิมที่เน้นการปูพรม ชี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจ-ประชาชน

​นโยบายเศรษฐกิจ เพื่อรับมือ วิกฤติโควิด กำลังเปลี่ยนจากการปูพรม ไปสู่ความตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ ที่แต่ละภาคส่วน ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน

นโยบายเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจ ที่กำลังเผชิญอยู่ในครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษ ต่างจากในอดีต ในครั้งนี้วิกฤตเริ่มขึ้นที่ ภาคเศรษฐกิจจริง อย่างฉับพลัน ผ่านการลดลงของรายได้ในวงกว้าง หลังคนส่วนใหญ่ มีชั่วโมงการทำงานลดลง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่หยุดชะงัก กระทบต่อความเป็นอยู่ของ กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียน จากรายได้ในแต่ละวัน เพื่อดำรงชีพ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่มีภาระหนี้สินมาก

ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือแฮมเบอร์เกอร์ ที่กระทบสถาบันการเงิน หรือ กลุ่มผู้มีรายได้ และสินทรัพย์มาก จึงยังสามารถประคับประคองดูแลตัวเองได้ระยะหนึ่ง วิกฤตการณ์การเงินทั้งสองครั้งนี้ มีรูปแบบที่ชัดเจน ผู้ดำเนินนโยบายในอดีต สามารถปฏิบัติตามแนวทางสากลในการแก้ปัญหาได้

แต่วิกฤติในครั้งนี้ ไม่เคยมีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ จึงต้องเร่งคิดค้นมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือ

บริบทเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไป หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เกิดความแตกต่างของระดับการฟื้นตัว ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บางสาขาเศรษฐกิจ ขยายตัวดีขึ้น ตามวิถีชีวิตปกติใหม่ เช่น การขายของออนไลน์ บางพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในประเทศ ที่เดินทางเพื่อผ่อนคลาย หลังเก็บตัวหลายเดือน

ขณะที่อีกหลายภาคส่วน จะยังไม่ได้รับยอดคำสั่งซื้อ และยอดการใช้บริการ ในระดับก่อนวิกฤติ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยังต้องใช้เวลานาน โดยต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ไทยต้องพึ่งพาอยู่มาก ตามลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจเปิด ที่มีขนาดเล็กของประเทศ

นโยบายเศรษฐกิจ

สถานการณ์โดยรวม จึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทั้งในด้านระยะเวลา ที่วัคซีนจะทำการผลิต และแจกจ่ายสู่วงกว้างได้สำเร็จ และระดับการฟื้นตัว ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ

ภาวะเช่นนี้ ย่อมทำให้นโยบายเศรษฐกิจ ต้องเดินหน้า จากเดิมที่ดำเนินการปูพรมในวงกว้าง เพื่อเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบ ยังมีสภาพคล่อง มาเป็นการดำเนินการที่ตรงจุด ให้การช่วยเหลือกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า หรือ กลุ่มที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ยังต้องมีลักษณะครบวงจร สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละกลุ่ม และ คำนึงถึงการสร้างความเข้มแข็ง ให้พึ่งพาตัวเองได้ และ มีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่ม หรือ ลดการให้ความช่วยเหลือ ให้เหมาะสม กับสถานการณ์ ที่มีความไม่แน่นอนสูง เพื่อเป็นการบริหารทรัพยากร ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอ และยืนหยัดได้ หากสถานการณ์ วิกฤติโควิด ยังยืดเยื้อ ยาวนาน

น่าสังเกตว่า มาตรการด้านเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีลักษณะปูพรม ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบ ขึ้นทะเบียนรับการเยียวยา ภายใต้โครงการ เราไม่ทิ้งกัน สำหรับผู้อยู่นอกระบบประกันสังคม และการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากเหตุสุดวิสัย สำหรับผู้ประกันตน ก่อนที่จะกระตุ้นการบริโภค ให้กับประชาชน ในแต่ละกลุ่ม เช่น เพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยว ผ่านโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และ โครงการช้อปดีมีคืน

GettyImages 1212445908

ในขณะนี้ ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ กำลังขับเคลื่อนมาตรการที่มีลักษณะตรงจุด ผ่านการออกแบบนโยบายร่วมกัน ได้แก่

  • ผู้แทนภาคธุรกิจ คือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ
  • ผู้คุมแผน คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ผู้ดูแลงบประมาณ คือ กระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานปฏิบัติการ เช่น กระทรวงแรงงาน ที่เป็นเจ้าภาพหลักจัดทำเว็บไซด์ www.ไทยมีงานทำ.com ซึ่งไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มกลาง ในการจับคู่งาน ให้แรงงาน กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน อันเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และจะเป็นกลไก ที่เอื้อให้แรงงานรับทราบถึง ทักษะที่เป็นที่ต้องการ

ขณะที่ ภาครัฐเอง ก็จะสามารถสนับสนุนการยกระดับ และปรับทักษะแรงงาน ให้เหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการ ที่ครบวงจรและยืดหยุ่น

การมีนโยบายเศรษฐกิจที่ ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในการปรับตัว จึงจะเป็นหัวใจสำคัญ ของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ประเทศก้าวผ่าน วิกฤติโควิด ครั้งนี้ได้

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo