POLITICS-GENERAL

เปิดเส้นทาง ‘มายด์ ภัสราวลี’ ผงาดแกนนำม็อบ

แม้จะเป็นหนึ่งในแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มเยาวชน แต่ชื่อของ “มายด์ ภัสราวลี” หรือ “ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” เพิ่งจะมาถูกพูดถึง และถูกจับตามอง เป็นอย่างมาก ในฐานะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีลีลาการปราศรัยแบบชัดเจน ตรงประเด็น  หลังจากที่เธอถูกจับกุมในช่วงกลางคืน วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา 

“มายด์ ภัสราวลี” หรือ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล วัย 25 ปี เป็นนักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เกิด และเติบโตในสังคมชนชั้นกลาง พ่อแม่ประกอบอาชีพค้าขาย

มายด์ ภัสราวลี

ความสนใจทางการเมืองของเธอเกิดขึ้น จากการได้เห็นภาพเหตุการณ์จับกุมนักศึกษา และนักกิจกรรมการเมือง ที่ต่อต้านรัฐประหาร หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2558 หรือราว 1 ปีหลังรัฐประหารปี 2557

ภาพเหตุการณ์นั้นทำให้เธอตั้งคำถามว่า คนไทยมีสิทธิเสรีภาพแค่ไหน และประชาชนอย่างเธอมีอำนาจอะไรบ้างในประเทศนี้ 

การรวบตัว “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย พร้อมกับเพื่อนอีกหนึ่งคน ขณะชูป้ายประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ลงพื้นที่ตรวจดูมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลลามไปทั่วประเทศ เริ่มจากการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กกรกฎาคม โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก”

จากนั้นก็มีการจัดชุมนุมทั้งในสถาบันการศึกษาและบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง

มายด์ ภัสราวลี

วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย ซึ่ง มายด์ เป็นแกนนำอยู่ ได้ร่วมจัดการชุมนุมภายใต้ธีม “แฮร์รีพอตเตอร์ เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวทีนี้ กลายมาเป็นการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นเวทีแรกที่ “อานนท์ นำภา” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้พูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ขณะที่กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อาจกระทบกับระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

3.ต้องรับฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

หลังจากนั้น มายด์ร่วมชุมนุม และขึ้นปราศรัยอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก

มายด์ ภัสราวลี

ในวันที่ “คณะราษฎร 2563” ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม มายด์ ได้ร่วมการแถลงข่าวด้วย ในฐานะแนวร่วมของคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็น การชุมนุมที่ทำให้เธอถูกออกหมายจับ เป็นครั้งแรกในชีวิต ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เธอถูกจับ ในตอนกลางคืน หลังเหตุการณ์ยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะกำลังเข้าที่พักภายในซอยราชวิถี 3 ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งชุดจับกุมเป็นตำรวจกองปราบ

“การจับกุมครั้งนี้ไม่ได้ทำให้หนูกลัว และบอกได้เลยว่า การจับกุมครั้งนี้ไม่ชอบธรรม เพราะพวกเขามาบุกจับหนูยามวิกาล การจับกุมแบบนี้จะต้องมีการแก้ไข ไม่สมควรที่จะต้องมีใครมาถูกกระทำแบบนี้อีก”

เธอยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เธอถูกออกหมายจับ และถูกจับกุม แต่ก็ไม่กลัวและไม่กังวล

“เรารู้ว่านี่เป็นเกมของรัฐบาลที่จะตัดทอนกำลังของเรา” 

วันที่ 22 ตุลาคม 2563 เธอถูกควบคุมตัวไป สน. ลุมพินี เพื่อทำบันทึกการจับกุม จากนั้นตำรวจได้นำตัวขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งศาลได้ยกคำร้องขอฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 20,000 บาท แต่เนื่องจาก มายด์ ยังเป็นนักศึกษา จึงยังไม่ต้องวางเงินประกัน เมื่อผิดสัญญาประกันจึงจะจ่ายค่าปรับ

Ek53 CdVkAEzzz8

ภายหลังถูกปล่อยตัว เธอได้ให้สัมภาษณ์พร้อมรอยยิ้มว่า วันนี้ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีวางเงินหลักประกัน และไม่มีเงื่อนไข โดยศาลได้พิจารณาเห็นว่าคดีนี้เป็นโทษสถานเบา และตัวเธอเองยังเป็นนักศึกษาและอยู่ในช่วงสอบปลายภาค จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูหนังสือเพื่อสอบเตรียมสอบปลายภาค ในขณะเดียวกันทนายของเธอก็ได้ยื่นเหตุผลในเรื่องการศึกษาด้วย

“ถือว่าได้รับความเป็นธรรม จริง ๆ แล้ว คดีนี้เป็นคดีที่มีโทษไม่เกินสองปี ถ้าตามกระบวนการจริง ๆ ไม่ควรจะต้องออกหมายจับก่อนแต่แรก พอมาขึ้นศาลแล้วก็ได้เห็นการไต่สวนที่เป็นธรรม ศาลได้เล็งเห็นว่าหนูยังเป็นนักศึกษาอยู่ การแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนควรทำได้”

เธอเชื่อว่า ยังพอมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่บ้างในสังคมไทย

นอกจากนี้ มายด์ ยังเคยถูกพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุม  และ พ.ร.บ.การใช้เครื่องขยายเสียง จากการจัดกิจกรรมชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมร่วมกับผู้ต้องหาอื่นรวม 6 คน ซึ่งทั้งหมดไป รายงานตัวเมื่อวันที่ 1 กันยายน โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มายด์ ยังเป็น 1 ใน 12 รายชื่อของแกนนำคณะราษฎร์ ที่ถูกออกหมายจับในความผิดฐานเป็นบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา หลังจากมีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ เธอยังมีคดีที่ สน.บางเขน ในข้อหา “ชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ” หลังได้ร่วมกับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุุ่มเยาวชนปลดแอก ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว อานนท์ และ ไมค์  หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา

586880

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo